บางครั้งเราก็อยากรู้ว่ารถที่เราใช้งานอยู่นั้นมันจะมีสมรรถนะดีมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะอีโคคาร์ที่เน้นการใช้งานทั่วๆไป ซึ่งการเรียกสมรรถนะออกมาให้เห็นบนถนนคงจะไม่สะดวกนักมันขัดกับกฎหมายจราจร ดังนั้นทางค่ายซูซูกิจึงจัดกิจกรรม Suzuki Swift Up To The Max โดยเลือกสนามพีระเซอร์กิตเป็นสถานที่จัดงาน
สำหรับ Suzuki Swift การนำไปขับในสนามไม่ใช่เรื่องยากเพราะรถคันนี้เป็นอีโคคาร์ที่มีตัวถังอยู่ในระดับซับคอมแพคที่ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไปทำให้ได้รับความนิยมในตลาด ซึ่งโฉมปัจจุบันก็ถูกออกแบบมาให้มีหน้าตาสวยงามกว่าโฉมก่อนหน้านี้อยู่แล้ว
หลายคนคงอยากได้รถ 3 ประตูมาใช้งานกันบ้างแต่ก็ไม่มีให้เลือกในตลาดทำให้ Suzuki ออกแบบ Swift รุ่นนี้ถูกออกแบบมาให้ดูคล้ายๆกับรถยนต์ 3 ประตู โดยนำมือจับเปิดประตูเอาไปไว้ตรงด้านหลังหน้าต่างจึงเห็นมือจับเปิดประตูแค่ตรงประตูบานหน้าอย่างเดียว ส่วนทางด้านหลังจะดูกลมกลืนกันไปกับตัวถังทำให้ดูคล้ายๆกับรถ 3 ประตู
สำหรับการขับขี่ในสนามจะมีสถานีต่างๆให้รับรู้ว่า Swift คันนี้จะทำได้ดีแค่ไหน โดยเริ่มจากการออกตัวที่กดคันเร่งจนมิดก็จะเห็นถึงอัตราเร่งที่มาจากเครื่องยนต์ K12M ที่เป็นเครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 4 สูบทวินแคม 16 วาล์วหัวฉีดคู่ ซึ่งจะให้กำลังสูงสุด 83 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 180 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที ที่ให้การตอบสนองได้รวดเร็วสามารถสร้างอัตราเร่งได้ดีพอสมควร
อุปสรรคแรกที่เจอคือการขับรถอ้อมกรวยเป็นวงกลมซึ่งสนามพีระเซอร์กิตก็ไม่ได้มีความกว้างของพื้นสนามมากนัก แต่ด้วยวงเลี้ยวของตัวรถแค่ 4.8 เมตรของ Suzuki Swift จึงทำให้การขับกรวยในครั้งนี้สอบผ่านได้ไม่ยาก
เมื่อส่งต่อความเร็วหลังจากที่ขับวนอ้อมกรวยกันไปแล้วก็จะเห็นถึงการตอบสนองต่อเกียร์อัตโนมัติ CVT ของ Suzuki Swift ที่ทำงานสัมพันธ์กันระหว่างรอบเครื่องยนต์กับความเร็ว จึงไม่ได้ยินเสียงครางแบบโหยหวนจากเครื่องยนต์เมื่อเจอรอบสูงๆแบบรถค่ายอื่นๆ
เจอโค้ง S กลับด้านของสนามพีระจะต้องกำหนดจุดเข้าโค้งให้แม่นยำ แม้ว่าจะเสียเปรียบบ้างตรงการเป็นรถ Eco Car มีช่วงล่างเดิมๆที่ให้ความนิ่มนวล แต่ก็ได้โครงสร้างตัวถังที่ใช้เหล็กกล้าคุณภาพสูงวางบน แพลทฟอร์ม HEARTECT ที่มีความแข็งแกร่งทนทานทำให้การทรงตัวทำได้ดี จึงได้ความมั่นใจเมื่อใช้ความเร็วสูงๆที่ยังคงรักษาเส้นทางที่ต้องการเอาไว้ได้
ต่อจากนั้นก็ถึงสถานีสลาลอมซึ่งไม่มีปัญหากับโครงสร้างช่วงล่างที่มีการเชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกันเมื่อทำงานร่วมกันกับระบบกันสะเทือนหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัทด้านหน้าและทอร์ชั่นบีมด้านหลังของระบบNVHทำให้ผ่านสถานีได้ด้วยเวลาที่ดีพอสมควร
กับฐานล้อที่ยาว 2,450 มิลลิเมตร มีช่วงล้อหน้ากว้าง 1,530 มิลลิเมตร ช่วงล้อหลังกว้าง 1,525 มิลลิเมตร โดยมีตัวถังที่กว้าง 1,735 มิลลิเมตร ยาว 3,845 มิลลิเมตรครอบอยู่ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงแต่คล่องตัวเมื่อต้องหักหลบกะทันหัน โดยตัวรถไม่โดนเหวี่ยงออกไปจากเส้นทางมากนัก อาจจะใช้พื้นที่เยอะขึ้นกับช่วงล่างนิ่มๆแต่ก็ถือว่าทำได้ดีสำหรับ Suzuki Swift คันนี้
เมื่อถึงจุดสิ้นสุดของการทดสอบก็จะเป็นการใช้เบรคเพื่อให้ตัวรถอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ซึ่งในรถรุ่นนี้จะใช้ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อจึงสามารถเบรคให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ได้ไม่ยากนัก
การขับในสนามความมั่นใจส่วนหนึ่งมาจากเบาะนั่งที่มีปีกเบาะทั้งช่วงหลังและขามีขนาดใหญ่พอสมควรทำให้ตัวไม่หลุดออกจากเบาะเมื่อต้องเข้าโค้งแรงๆ
สำหรับพวงมาลัยก็จะเป็นทรงดีเชฟสไตล์รถแข่งที่ตัดด้านล่างตรงไม่ให้โดนขาเป็นพวงมาลัยหุ้มหนังที่จับได้ถนัดมือดี เวลาอ่านค่าจากมาตรวัดแบบเข็มก็ทำได้ง่ายๆ จอเครื่องเสียงตรงกลางจะอยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่บดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น ซึ่งการมองจุดเข้าและออกบนพื้นสนามแข่งนั้นทำได้ง่าย
เบาะหลังที่ให้มาก็รองรับผู้โดยสารได้ 3 คนมีความโปร่งโล่งนั่งสบายไม่อึดอัด พื้นที่เหนือศีรษะมีมากพอสมควรสามารถพับพนักพิงเบาะแยกได้แบบ 60:40
ห้องเก็บของจะไม่ได้ใหญ่มากนักแต่จะมีแผ่นปิดกันสายตาจากข้างนอกได้ เมื่อต้องการพื้นที่เพิ่มก็จะได้มาจากการพับพนักพิงเบาะหลังแต่ในความจุเดิมๆที่ให้มาก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆไปอยู่แล้ว