ตลาดมอเตอร์ไซค์ในระดับ 300-350 ซีซีมีขนาดใหญ่เพราะมีราคาที่ไม่สูงเกินเอื้อมทำให้ค่าย Royal Enfield ปล่อยของออกมาในตลาดนี้เยอะโดยเริ่มจากตัวเมทธิออ ตามมาด้วยรุ่นคลาสสิค ล่าสุดก็จะมี Hunter 350 ตามมา
กับมอเตอร์ไซค์สายพันธุ์อังกฤษมีเจ้าของเป็นอินเดียแต่ใช้เมืองไทยเป็นสถานที่เปิดตัว เรียกได้ว่าสร้างความคึกคักได้เป็นอย่างมากและงานนี้ก็มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่อีกต่างหาก มีนักข่าวหลายชาติเข้าร่วมงานเปิดตัวและทดสอบกัน
แม้เครื่องยนต์ 350 ซีซีที่ใช้ร่วมกันแต่ในเรื่องของรูปทรงตัวถังนั้น Hunter 350 จะฉีกออกไปมาในแบบรถโรสเตอร์ที่ผสมผสานความทันสมัยและความคลาสสิคเข้าด้วยกัน มีการออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดเพื่อความคล่องตัวในการใช้งานในเมืองที่เร่งรีบรวมไปถึงการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆได้อย่างมั่นใจ
การออกแบบเฟรมใหม่โดยเลือกเฟรมทรงเปลคู่แต่ตัดส่วนที่ห้อยอยู่ด้านล่างรับเครื่องยนต์ออก เป็นการออกแบบในสไตล์ half duplex ที่ห้อยมายึดไว้กับด้านหน้าเครื่องยนต์ช่วยลดพื้นที่ ทำให้ใต้ท้องโล่งขึ้นอีกทั้งมีน้ำหนักเบาลงอีกต่างหาก
ตัวรถถูกปรับให้มีท่านนั่งที่สามารถควบคุมรถได้ง่าย เมื่อขึ้นไปคร่อมบนเบาะที่สูงจากพื้น 790 มิลลิเมตร เบาะนั่งถูกออกแบบให้เป็นชิ้นเดียวแต่มีพื้นผิวมีสันนูนขวางเพื่อไม่ให้ลื่น การออกแบบในช่วงหน้าเว้าลงทำให้คนเอเชียสามารถขึ้นไปคร่อมแล้ววางเท้ากับพื้นได้อย่างเต็มที่
นอกจากนั้นยังมีการออกแบบถังน้ำมันใหม่เพื่อให้มีความยาวอยู่ในระดับพอดี เป็นถังน้ำมันที่ออกแบบความโค้งให้เข้ากันพอดีกับเส้นโค้งของเบาะนั่ง ฝาปิดถังน้ำมันก็เตี้ยลงไม่ดูเทอะทะแบบเก่าใช้งานง่าย โดยถังน้ำมันจะมีความจุ 15 ลิตร
ความคล่องตัวของ Hunter 350 มาจากการปรับฐานล้อให้สั้นลงเป็น 1,370 มม. จากการเลือกใช้โครงสร้างเฟรมของ แฮริส เพอฟอร์มานซ์ ที่ปรับเลื่อนได้สูง มีขนาดกะทัดรัดขึ้นน้ำหนักเบาลง จึงได้ความคล่องตัวมากขึ้นในการใช้งาน
ความมั่นคงในการควบคุมมาจากแฮนที่กว้างเป็นโครงเหล็กเส้นเดียวแต่มีความแข็งแรง ยึดจับด้วยตุ๊กตาตัวเตี้ยๆสามารถปรับยกหรือกดต่ำให้เหมาะกับสรีระของแต่ละคนได้ ตอนที่ขับแฮนด์จะถูกปรับยกไปข้างหน้ามากหน่อยทำให้ต้องก้มตัวเพิ่มขึ้น
โดยรูปทรงพื้นฐานยังคงเน้นความเรียบง่ายคลาสสิค ชุดโคมไฟหน้าทรงกลมใช้หลอดฮาโลเจน ส่วนไฟเลี้ยวก็จะยื่นออกมาในระดับเดียวกันกับโคมไฟหน้า
ชุดไฟท้ายจะใช้โคมไฟทรงกลมตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูงอยู่หลังโครงมือจับสำหรับคนซ้อน ส่วนไฟเลี้ยวจะเป็นแบบเรืยวไม่ได้เป็นทรงกลมเหมือนกับทางด้านหน้า
ระบบกันสะเทือนด้านหน้าที่ใช้ก็เป็นแบบเทเลสโกปิกของโชว่าขนาด 41มม.มีช่วงยุบ 130 มม. มียางกันฝุ่นมาให้พร้อม สำหรับเบรกเป็นดิสเบรกจานเดียวติดไว้ด้านขวาขนาด 300 มม. 2 ลูกสูบมีเอบีเอส มาให้ ส่วนล้อในรุ่นจะเป็นล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้วพร้อมยาง 110/70 r17
ระบบกันสะเทือนหลังเป็นแบบโช๊คอัพคู่วางบนสวิงอาร์มสามารถปรับพรีโหลดได้6ระดับมีช่วงยุบ 102มม. จานเบรคเดี่ยวขนาด 270 เมตร ใช้คาลิเปอร์แบบ1ลูกสูบ ยางที่ใช้กับมีขนาด 140/70 r17
เมื่อขึ้นไปคร่อมจะต้องก้มตัวเล็กน้อยด้วยการวางพักเท้าในแนวเดียวกันกับรอยต่อของเบาะจึงต้องเลือกใช้เกียร์โยง ก้านเปลี่ยนเกียร์มีด้านหน้าเพียงอย่างเดียว ใช้กดลงแล้วงัดขึ้นเป็นเกียร์ 5 Speed ที่มีความนุ่มนวลมากเวลาเปลี่ยนเกียร์ บางครั้งเปลี่ยนเกียร์แบบไม่กำคลัตช์ก็ไม่รู้สึกถึงอาการกระชากใดๆ
แผงหน้าปัดจะมี 2 แบบคือ 2 จอกลมกับ 1 จอกลม รุ่นที่ขับจะมีแค่จอกลมใหญ่มาให้ 1 จอเป็นการผสมผสานระหว่างอนาล็อกกับดิจิตอล กรอบนอกจะเป็นอนาล็อกที่มีทั้งกิโลเมตรต่อชั่วโมงและไมล์ต่อชั่วโมง ส่วนตรงกลางจะเป็นดิจิตอลที่มีแถบกราฟบอกระดับน้ำมันรวมไปถึงนาฬิกาแต่ตัวหนังสือจะมีขนาดเล็กไปหน่อย
เครื่องยนต์ที่ใช้จะเป็นเครื่องยนต์สูบเดียว 4 จังหวะ 349ซีซี แคมเดี่ยว เพลาลูกเบี้ยว 2 วาล์ว จ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีดไฟฟ้า ระบายความร้อนด้วยอากาศ เป็นเครื่องยนต์ที่มีช่วงชักยาว ลูกสูบขนาด 75 มม. ช่วงชัก 85.8 มม.ท่อไอเสียสั้นจึงได้เสียงที่ต่างออกไป
กำลังสูงสุดที่ทำได้ 22 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 27 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ทำงานได้ราบเรียบไม่สั่นจากการที่มีบาลานซ์ชาร์ฟเข้าไป อัตราเร่งทำได้ดีแม้ความเร็วสูงสุดจะอยู่ประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม แต่ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานด้วยอัตราเร่งที่มาแบบทันอกทันใจแบบนี้