นอสตร้า โลจิสติกส์ ผู้พัฒนาโซลูชันและแพลทฟอร์มด้านการบริหารจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการขนส่งอัตโนมัติ หรือ NOSTRA LOGISTICS TMS เผยธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์รายงานธุรกิจโลจิสติกส์จดทะเบียนเปิดกิจการใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิ่มขึ้น 39.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ความท้าทายสำคัญคือต้นทุนของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ จากวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 เท่าตัว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับลดลง แนะผู้ประกอบการใช้ NOSTRA LOGISTICS ePOD ติดตามและบริหารงานขนส่งด้วยสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ หนึ่งในฟีเจอร์สำคัญของ NOSTRA LOGISTICS Mobile Application ที่ตอบโจทย์ด้านต้นทุน ช่วยลดค่าใช้จ่ายงานขนส่งโดยรวมได้ถึง 7 ประการ จากข้อมูลผู้ประกอบการที่เลือกใช้ NOSTRA LOGISTICS ePOD แล้วกว่า 6,000 ราย
นางวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนมกราคม 2565 พบธุรกิจโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนเปิดกิจการใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีจำนวน 444 ราย หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 39.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. การขนส่งและขนถ่ายสินค้า 2. การขนส่งสินค้าทางถนน และ 3. กิจกรรมตัวแทน อย่างไรก็ตาม วิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลพุ่งสูงถึง 35 บาทต่อลิตร ยังคงสร้างปัญหาด้านต้นทุนให้กับธุรกิจ นำไปสู่การหาแนวทางลดต้นทุนค่าขนส่งในหลายด้าน เช่น การหาคลังสินค้าเพื่อกระจายสินค้าไปยังจุดต่าง ๆ โดยร่นระยะทางการเคลื่อนย้ายสินค้าให้สั้นที่สุด การลดจำนวนเที่ยววิ่งรถและกำหนดจำนวนสินค้าที่ขนส่งให้มากพอ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีโลจิสติกส์มาใช้บริหารจัดการงานขนส่ง เพื่อประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก
“จากเพนพอยท์ (Pain point) ดังกล่าวเป็นที่มาของการพัฒนา NOSTRA LOGISTICS Mobile Application ระบบติดตามยานพาหนะและบริหารงานขนส่งด้วยสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ ที่เข้ามาช่วยในเรื่องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและข้อผิดพลาดในการทำงานในทุกมิติ ได้แก่
1. ลดค่าอุปกรณ์ GPS Blackbox
2. ลดค่าดูแลซ่อมแซม หรือเคลื่อนย้ายอุปกรณ์
3. ลดค่าเสียโอกาสหากจำเป็นต้องหยุดรถเพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์
4. ลดค่าน้ำมันด้วยฟังก์ชันการเรียงจุดส่งแบบ Best Route
5. ลดความผิดพลาดของการส่งสินค้าด้วยการสั่งงานและระบุรายละเอียดสินค้าผ่าน Mobile Application
6. ลดการเข้าผิดจุดส่งด้วยการใช้ข้อมูล POI ที่แม่นยำและการนำทางจนถึงจุดหมาย และ
7. ลดข้อขัดแย้งกับลูกค้าด้วยหลักฐานการขนส่งทั้งรูปภาพและลายเซ็น
ทั้ง 7 ประการนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ต่ำลงกว่าเดิม พร้อมประสิทธิภาพการทำงานที่มากขึ้น ตอบโจทย์การทำงานได้ครบครัน” นางวรินทรกล่าว