McLaren Elva รถรุ่นล่าสุดในตระกูล Ultimate Series ต่อจากรุ่น F1 Road Car, P1, Senna และ Speedtail กับไฮเปอร์คาร์เครื่องยนต์วางกลาง ขับเคลื่อนล้อหลังอันทรงสมรรถนะ พร้อมโครงสร้างตัวถังน้ำหนักเบาที่ถูกถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์มาจากสนามแข่งฟอร์มูล่า วัน
หลังจากการเผยโฉม McLaren Elva สู่สายตาชาวโลกครั้งแรก ช่วงปลายปี 2562 และสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยการเป็นไฮเปอร์คาร์ 2 ที่นั่ง ไร้หลังคาและกระจกบังลมหน้า โครงสร้างแชสซีและตัวถังขึ้นรูปด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบา พร้อมสมรรถนะจากขุมพลัง V8 ขนาด 4.0 ลิตร เทอร์โบคู่ 815 แรงม้า โดยเปิดรับจองในจำนวนจำกัดเพียง 149 คัน
McLaren Elva ยังถือเป็นการฉลองสุดยอดผลงานการออกแบบของ “บรูซ แมคลาเรน” กับ McLaren M1A ที่ทำไว้ในปี ค.ศ. 1960 และรถแข่งในซีรีส์ “Group 7 McLaren” ที่โดดเด่นด้วยสมรรถนะ และนวัตกรรมซึ่งถูกนำมาปรับให้อยู่ในรูปแบบของยนตรกรรมเพื่อ “ผู้ขับขี่” ผสานหลักการออกแบบและวิศวกรรมยุคใหม่ของแมคลาเรน พัฒนาเป็นยนตรกรรมสำหรับท้องถนน (Road Car) ในปัจจุบัน
McLaren Elva เป็นรถ Open-Cockpit สองที่นั่ง พร้อมแชสซีและตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์สั่งทำพิเศษ ให้ความอิสระเพราะปราศจากหลังคา กระจกหน้าและหน้าต่างด้านข้าง สามารถกระตุ้นการรับรู้ของผู้ขับขี่ได้อย่างเต็มที่
McLaren Elva เป็นยนตรกรรมสำหรับท้องถนน (Road Car) น้ำหนักเบาที่สุด ที่แมคลาเรนเคยผลิตมาพร้อมด้วยสมรรถนะอันน่าทึ่งในทุกๆ ด้าน ทั้งการเร่งความเร็ว ความคล่องตัว และการตอบสนองต่อผู้ขับขี่ในระดับที่ไม่ธรรมดา ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ด้วยเครื่องยนต์แมคลาเรน V8 ขนาด 4.0 ลิตร เทอร์โบคู่ ซึ่งเป็นขุมพลังตระกูลเดียวกับ McLaren Senna และ McLaren Senna GTR
นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบ Active Air Management System (AAMS) เป็นครั้งแรกของโลกโดยระบบจะลำเลียงอากาศผ่านจมูกของตัวรถแล้วผันออกทางฝาครอบด้านหน้าด้วยความเร็วสูงก่อนที่จะเหินขึ้นเหนือห้องผู้โดยสาร เพื่อสร้างบับเบิลที่เป็นเสมือนเกราะกำบังให้กับผู้โดยสารโดยระบบ AAMS ประกอบด้วยช่องรับลมตรงกลางขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือสปลิตเตอร์ ช่องระบายอากาศของฝาครอบและตัวเบี่ยงลมคาร์บอนไฟเบอร์ที่สามารถยกขึ้นและลดระดับได้ในแนวตั้ง เมื่อ AAMS ทำงานอยู่ ตัวเบี่ยงลมบริเวณขอบของช่องระบายอากาศที่ฝาครอบด้านหน้าจะถูกยกขึ้น 150 มม. เพื่อสร้างพื้นที่แรงดันต่ำที่ช่องระบายอากาศ ซึ่งอากาศที่ถูกระบายออกมาจะถูกผันออกในรัศมี 130 องศาผ่านโครงข่ายของใบพัดตามขวางที่ทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ติดตั้งอยู่ตลอดความยาวของฝาด้านหน้าคอยทำหน้าที่กระจายกระแสลมทั้งด้านหน้าและด้านข้างของห้องโดยสารและช่วยในการจัดการอากาศในห้องโดยสารด้วย
สำหรับการขับขี่ในเมืองระบบ AASM จะปิดใช้งาน เนื่องจากระดับความเร็วของรถและการไหวของอากาศเข้าสู่ห้องโดยสารไม่ได้สูงมากแต่เมื่อความเร็วของรถเพิ่มขึ้น ระบบ AAMS จะทำงานโดยอัตโนมัติจนกว่าความเร็วจะลดลงส่งสัญญาณให้ตัวเบี่ยงลมหดกลับ แต่ผู้ขับก็สามารถกดปุ่มปิดระบบเองได้ด้วย นอกเหนือจากระบบ AAMS แล้ว ขอบท้ายของ McLaren Elva ยังติดตั้งแอร์เบรกแบบแอ็คทีฟแบบเต็มความกว้างของรถ โดยความสูงและมุมของแอร์เบรกได้รับการปรับแต่งเพื่อให้เกิดสมดุลอากาศที่เหมาะสมที่สุด
ด้านเบาะนั่งของ McLaren Elva ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ ด้านกรอบคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบา รองรับศีรษะ ไหล่ และหลังของผู้โดยสาร ช่วยเปิดรับประสบการณ์การขับขี่อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เบาะนั่งจะสั้นกว่าเบาะนั่งของรถแมคลาเรนทั่วไปเล็กน้อย เพื่อทำให้มีพื้นที่พักเท้าเพียงพอสำหรับการยืนหรือช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างการเข้า-ออกจากรถ ขณะเดียวกันลูกค้าสามารถเลือกสี และวัสดุของเบาะนั่งได้ทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างส่วนบนที่เปิดโล่ง และส่วนล่างที่โอบล้อมปกป้องผู้โดยสารรวมถึงออพชั่นสายรัดนิรภัยแบบ 6 จุด หากต้องการนำไฮเปอร์คาร์คันนี้ไปใช้ในสนามแข่ง
เพื่อลดน้ำหนักของรถให้มากที่สุด ระบบเครื่องเสียงจึงไม่ถูกจัดอยู่ในชุดอุปกรณ์พื้นฐานของ McLaren Elva แต่ลูกค้าสามารถสั่งทำพิเศษได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมส่วนตัวเลือกอื่นๆ ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ได้แก่ ระบบยกตัวรถ รวมถึงล้ออัลลอยฟอร์จ น้ำหนักเบาพิเศษ ลาย 5 ก้าน (เปลี่ยนได้จากล้อมาตรฐาน ลาย 10 ก้าน) รวมถึงเปลี่ยนยาง Pirelli P Zero™ เป็นยาง Pirelli P Zero™ Corsa สำหรับสนามแข่งได้
ตั้งแต่ปี 1981 แมคลาเรนให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้ขับขี่เป็นอันดับหนึ่ง ในการสร้างรถทุกรุ่น รวมถึงรถแข่งทุกคันของแมคลาเรน โดย McLaren Elva เป็นรถเปิดประทุนโดยตัวถังแบบโมโนค็อกที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีความแข็งแรง สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในส่วนเครื่องยนต์แมคลาเรน V8 ขนาด 4.0 ลิตร ทวินเทอร์โบ ตัวเครื่องมีเพลาข้อเหวี่ยงแบบระนาบแบนระบบหล่อลื่นแบบบ่อพักแห้ง เพลาลูกเบี้ยว ก้านสูบ และลูกสูบที่น้ำหนักเบาช่วยลดมวลในระบบส่งกำลังพร้อมเกียรต์ดูอัลคลัตซ์ 7 สปีด ทำหน้าที่ส่งกำลังไปยังล้อหลัง อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. น้อยกว่า 3 วินาที และอัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ยังทำได้เร็วกว่า McLaren Senna ด้วยเวลาเพียง 6.7 วินาที มากไปกว่านั้น ผู้ขับขี่ยังสามารถใช้ฟังก์ชั่น Adaptive Dynamics Controls เพื่อเปลี่ยนโหมดการควบคุมรถและระบบส่งกำลังได้ 3 รูปแบบ คือ Comfort, Sport และ Track เพื่อปรับลักษณะการขับขี่ให้เข้ากับอารมณ์ หรือสภาพแวดล้อมในขณะนั้น รวมถึงการปรับโหมด Electronic Stability Control (ESC) ที่เลือกได้ 3 ระดับ และระบบ Variable Drift Control (VDC) ที่จะช่วยล็อกอิสรภาพในการขับขี่ให้แก่ลูกค้าแมคลาเรน