บริษัท ดิฟเฟอเรนเชียล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทที่ปรึกษา และวิจัยตลาดชั้นนำ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยประสบการณ์ลูกค้าด้านความพึงพอใจในการนำรถเข้ารับบริการหลังการขายจากศูนย์บริการรถยนต์มาตรฐานของแต่ละยี่ห้อทั่วประเทศ (Service CXI) ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยฯต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเปรียบเทียบกับผลของครั้งแรกที่เมื่อพบว่า ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจ Service CXI ในการนำรถเข้ารับบริการหลังการขายจากศูนย์บริการฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8 คะแนนเป็น 893 คะแนน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลการมุ่งพัฒนาการบริการของศูนย์บริการมาตรฐานรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อเน้นสร้างความพึงพอใจสูงสุด รวมถึงความผูกพันที่มีต่อแบรนด์ และความรู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปในการเข้ารับบริการ
นายศิรส สาตราภัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิฟเฟอเรนเชียล ประจำประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “จากการศึกษาวิจัยประสบการณ์ลูกค้าด้านความพึงพอใจในการนำรถเข้ารับบริการหลังการขายจากศูนย์บริการรถยนต์มาตรฐานของแต่ละยี่ห้อทั่วประเทศในครั้งนี้ เราพบประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจ (Service CXI) มีอัตราเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยในกลุ่มรถยนต์แบรนด์ยอดนิยมเพิ่มขึ้น 8 คะแนน สะท้อนถึงการปรับปรุงโดยรวมของการบริการหลังการขาย โดย Toyota ยังคงเป็นแบรนด์ที่ได้รับคะแนนสูงสุดถึง 897 คะแนน (เพิ่มขึ้น 6 คะแนนจากปีที่ผ่านมา) ในขณะที่ Ford ได้ 896 คะแนน (เพิ่มขึ้น 11 คะแนน) ส่วน GWM ได้ 895 คะแนน(เพิ่มขึ้น 6 คะแนน) โดยการปรับปรุวที่เด่นขัดเกิดในจุดสำคัญ อาทิ ราคาและประสิทธิภาพการสื่อสาร และการเข้าถึงบริการที่ง่ายขึ้น”
ความแตกต่างในด้านความพึงพอใจของลูกค้าของแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น และแบรนด์รถยนต์จีน: แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น อาทิ Toyota Honda และ Nissan ได้รับคะแนนการจัดอันดับคุณภาพการบริการ และความโปร่งใสที่สูงกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาบุคลากรและคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง จึงทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น และเกิดความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว ในส่วนแบรนด์รถยนต์จากจีน อาทิ GWM BYD และ NETA แม้จะเร่งสร้างโอกาสทางการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ด้านราคา และการเข้าถึงการบริการที่ง่ายขึ้นโดยการนำระบบดิจิตอลมาใช้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงพบปัญหาในเรื่องความพร้อมของอะไหล่ทดแทน ปัญหาความมั่นใจในการรับประกันและการบริการหลังการขาย ซึ่งในส่วนนี้แบรนด์ญี่ปุ่นสามารถทำได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดแบรนด์ญี่ปุ่นจึงยังเป็นผู้นำในด้านความน่าเชื่อถือและกระบวนการบริการที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน ประสบการณ์และความพึงพอใจของลูกค้าถูกขยายขอบเขตออกไปไกลกว่าการให้บริการแบบเดิม ๆ ไปสู่การสื่อสารเชิงรุกผ่านระบบดิจิตอล อาทิ การแจ้งเตือนการเข้ารับบริการ การทำนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ การอัพเดทสถานะการบริการอย่างเรียลไทม์ และการติดตามผล สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเกิดความภักดีและสามารถรักษาฐานลูกค้าได้ จากการศึกษาวิจัยฯ ยังพบว่า ลูกค้า 71% ที่ได้รับการสื่อสารเชิงรุกเกี่ยวกับบริการครั้งต่อไป มีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำอีกครั้ง”
เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ศูนย์บริการมาตรฐานของแบรนด์รถยนต์ต้องมุ่งเน้นการสร้างประสิทธิภาพใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1) การปรับปรุงความชัดเจนของอัตราค่าบริการ เนื่องจากลูกค้ามากกว่า 40% ระบุว่าการกำหนดราคาที่ไม่ชัดเจนเป็นปัญหาสำคัญ
2) การเพิ่มความพยายามในการสื่อสารเชิงรุกอย่างทันท่วงที และการให้คำแนะนำด้านการบำรุงรักษาจะช่วยให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจ
3) การอธิบายการรับประกันที่ชัดเจน และการรับประกันงานบริการที่ยาวนานขึ้น จะช่วยให้เกิดการกลับมาใช้บริการซ้ำ