คอนติเนนทอลกำลังพัฒนาหุ่นยนต์เพาะเมล็ดพืชร่วมกับ Land Life บริษัทที่เน้นการฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า หุ่นยนต์นี้สามารถเพาะเมล็ดพืชได้ในอัตรา 1 เมล็ดต่อ 1 นาที โดยยานยนต์ที่ควบคุมระยะไกลจะเพาะเมล็ดลงในดินได้มากถึง 60 เมล็ดต่อชั่วโมง จึงทำให้หุ่นยนต์นี้เป็นโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยเฉพาะการปลูกป่าทดแทนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
Continental Engineering Services (CES) ผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมและการพัฒนาภายในบริษัท และ Land Life ร่วมมือกันนำหุ่นยนต์นวัตกรรมนี้เข้าสู่ตลาดเป็นครั้งแรก Land Life เป็นผู้นำตลาดระดับโลกด้านโซลูชันการฟื้นฟูและปลูกป่าใหม่โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยบริษัทจะนำความเชี่ยวชาญเชิงลึกในโครงการฟื้นฟูธรรมชาติมาช่วยสนับสนุน ในขณะที่ CES กำลังพัฒนาระบบการเจาะและการเพาะเมล็ดอัตโนมัติ หุ่นยนต์ผู้ผลิตจากเยอรมนี Stella Engineering ซึ่งมีจำหน่ายในตลาดแล้วจะทำหน้าที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับการขนส่งหุ่นยนต์นี้
ตามรายงานการติดตามของสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) การสูญเสียพื้นที่ป่าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ในปีพ.ศ. 2566 จาก 22.8 ล้านเฮกตาร์ในปีพ.ศ.2565 เป็น 28.3 ล้านเฮกตาร์ในปีพ.ศ. 2566 การสูญเสียป่าดิบชื้นนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง โดยรวมแล้ว พื้นที่ป่าหายไปประมาณ 37,000 ตารางกิโลเมตร (3.7 ล้านเฮกตาร์)ในปีพ.ศ. 2566 ตามข้อมูลของ WRI โลกสูญเสียพื้นที่ป่าดิบชื้นไป 3 ถึง 4 ล้านเฮกตาร์ต่อปีในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ป่าดิบชื้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน และการควบคุมผลกระทบต่อสภาพอากาศในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าหรือการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูระบบนิเวศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม วิธีการปลูกป่าทดแทนแบบเดิมมักไม่สามารถทำได้จริงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการขั้นสูง หุ่นยนต์เพาะเมล็ดพืชจึงเป็นทางเลือกใหม่ในการฟื้นฟูป่าไม้ ช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ