วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ในปีการศึกษา 2568 รองรับความต้องการบุคลากรด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีความต้องการอย่างมากจากการเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก หลักสูตรเน้นให้นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติ และมีศักยภาพในการทำงานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น อาทิ ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า การจัดเก็บและจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ การออกแบบและสร้างยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและจีน เป็นต้น
ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า “โดยพื้นฐานแล้วรถยนต์ HEV จะมีระบบการทำงานที่ซับซ้อนกว่าทั้งรถยนต์ BEV และ ICE (Internal Combustion Engine) เพราะต้องมีทั้งเครื่องยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่อยู่ในรถคันเดียวกัน ทั้งนี้การที่รถยนต์ HEV ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลานี้ ปัจจุบันประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ได้ขยายการลงทุนโดยการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยหลายราย ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเฉพาะทางในสาขานี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อตอบรับแนวโน้มดังกล่าว วิทยาลัย CITE DPU จึงเปิดหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ในระดับปริญญาตรี หลักสูตรนี้มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้า การจัดเก็บและจ่ายพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ความรู้ด้านแบตเตอรี่ พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าแบบต่าง ๆ ทั้ง BEV HEV และ PHEV โดยนักศึกษาจะได้ทดลองปฏิบัติจริง เช่น การสร้างรถยนต์ไฟฟ้า การทดสอบแบตเตอรี่ การควบคุมการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าต่าง ๆ ระบบความปลอดภัย การส่งกำลัง ระบบกันสะเทือน รวมทั้งเทคโนโลยี AI สำหรับระบบควบคุมการขับเคลื่อน เป็นต้น
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ หลักสูตรยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารทางภาษา ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานในบริษัทต่างชาติในอนาคต ทั้งนี้ หลักสูตรเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2568 เป็นปีแรก โดยมีความพร้อมทั้งด้านห้องปฏิบัติการ และความร่วมมือกับบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตเครื่องมือด้านยานยนต์ และหน่วยงานที่ดูแลด้านมาตรฐานรถยนต์ เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับโครงการสหกิจศึกษาในประเทศที่เป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ในอนาคต โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกสาขาทั้ง ม.ปลาย ปวช. และ ปวส. โดยผู้ที่จบการศึกษาสาขาช่างยนต์ ช่างกล ช่างอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเทียบโอนหน่วยกิตและประสบกาณณ์ทำงานเพื่อให้สามารถเรียนจบหลักสูตรได้ภายใน 2 ปีเท่านั้น รวมทั้งยังมีหลักสูตรที่เรียนทั้งวันจันทร์-ศุกร์ และ วันเสาร์-วันอาทิตย์ ที่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังทำงาน