ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ 2024 Global Automotive Consumer Study โดยได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวนกว่า 27,000 คนจาก 26 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเดือน กันยายน ถึง ตุลาคม 2566 เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคยานยนต์ ครอบคลุมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 5,939 คน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคคนไทยประมาณ 1,000 คน โดยได้ทำการวิเคราะห์ร่วมกับผลการสำรวจข้อมูล Thailand Automotive Consumer Survey 2024 ที่ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน 2567 กับผู้บริโภคคนไทยอีก 330 คน โดยมีมุมมองที่น่าสนใจใน 2 ประเด็น ดังนี้
ผลสำรวจในปี 2567 พบว่าความนิยมของคนไทยในรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ลดลงจากปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 31 เหลือเพียงร้อยละ 20 โดยรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ยังคงเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่แนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ จากร้อยละ 36 เหลือเพียงร้อยละ 32 ในขณะที่รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) กลายเป็นทางเลือกที่ร้อนแรงขึ้นมา โดยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเกือบจะเท่ากับ BEV จากร้อยละ 10 ในปี 2566 เป็น ร้อยละ 19 โดยแนวโน้มความนิยมของคนไทยต่อ ICE สอดคล้องกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน แต่สวนทางกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ความนิยมใน ICE ดีดตัวสูงขึ้น สำหรับตลาดรถมือสองในไทย ICE (Internal Combustion Engine) เป็นทางเลือกอันดับ 1 ที่ร้อยละ 54 ตามมาด้วยกลุ่มรถไฮบริด และ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ที่ร้อยละ 38 รั้งท้ายด้วย BEV ที่ร้อยละ 9
เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่คนไทยเลือกใช้ BEV พบว่า ร้อยละ 73 ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง ร้อยละ 71 กังวลกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 49 ได้แก่ ความกังวลกับสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว และ ประหยัดเรื่องค่าบำรุงรักษา ส่วนเหตุผลคนที่ไทยเลือก HEV/PHEV พบว่า ร้อยละ 73 ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง ร้อยละ 68 ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทาง และร้อยละ 37 ต้องการลดปัญหาฝุ่น ควัน และก๊าซเรือนกระจก และสำหรับกลุ่มที่เลือกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE ร้อยละ 78 ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ ร้อยละ 67 ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือความคาดหมาย (เช่น แบตเตอรี่ หรือระบบที่เกี่ยวข้อง) และร้อยละ 52 ต้องการความยืดหยุ่นในการบำรุงรักษา และการปรับแต่ง
จากการสำรวจ พบว่า คนไทยเปิดรับกับ BEV มากขึ้น โดยความกังวลของคนไทยที่มีต่อ BEV ระหว่างปี 2566 และ 2567 ในภาพรวมปรับลดลงทุกมิติ โดยมิติที่กังวลสูงสุด ได้แก่ สถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ ปรับลดจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 46 ระยะทางในการขับ ปรับลด จากร้อยละ 44 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 39 ผลสำรวจพบว่า คนไทยปรับตัวกับเวลาในการชาร์จรถได้นานขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาที่รับได้มากที่สุดขยับมาอยู่ที่เวลาประมาณ 21- 40 นาที ที่ร้อยละ 38 ขยับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ร้อยละ 25
การชาร์จไฟฟ้าที่บ้านยังคงเป็นความต้องการสูงที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางเลือกในการชาร์จไฟฟ้านอกบ้านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยสถานีบริการน้ำมัน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปีที่แล้วเป็นร้อยละ 34 ในปีนี้ ที่น่าสนใจคือความนิยมในการการชาร์จไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 29 การชาร์จไฟฟ้าที่สถานีเฉพาะสำหรับ BEV ปรับลดลงมาจากร้อยละ 51 เหลือเพียงร้อยละ 21 ส่วนระยะทางคาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จต่อครั้งขยับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยข้อมูลในปี 2567 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 44 มีความเห็นว่าระยะทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ควรมีระยะทางระหว่าง 300 ถึง 499 กิโลเมตร