ปัจจุบัน คำว่า “วัสดุที่ยั่งยืน” ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัดเพียงหนึ่งเดียว การไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนนี้ส่งผลเสียต่อความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในภาคอุตสาหกรรมยางล้อ มิชลินเห็นว่า “วัสดุที่ยั่งยืน” คือวัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลหรือวัสดุหมุนเวียน (Renewable) ตลอดช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้กลุ่มมิชลินจึงผลักดันให้เกิดฉันทามติของภาคอุตสาหกรรมยางล้อในการกำหนดคำจำกัดความที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับร่วมกันสำหรับคำว่า “วัสดุที่ยั่งยืน”
มิชลินตั้งเป้าที่จะดำเนินกลยุทธ์การใช้วัสดุที่ยั่งยืนกับผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มประเภท…ไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือบางกลุ่มผลิตภัณฑ์เท่านั้น การนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาปรับใช้จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงลึกด้านวิธีดำเนินการ เครื่องมือ และกระบวนการทางอุตสาหกรรม พูดกว้างๆ ก็คือ จำเป็นต้องมีการจัดตั้งภาคส่วนหรือห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนด้านอุตสาหกรรม วิสัยทัศน์นี้ไม่เพียงมีความโดดเด่นเหนือกว่าในเชิงขอบเขตการดำเนินงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมยางล้อ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของกลุ่มมิชลินที่จะปรับปรุงการออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขนานใหญ่เพื่อปกป้องพิทักษ์ผืนโลกเอาไว้
กลุ่มมิชลินตระหนักดีว่าการพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยทักษะใหม่ ๆ จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการผสานพันธมิตรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้การพัฒนาเทคโนโลยีล้ำหน้า…โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแปรสภาพและการรีไซเคิล…ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว พันธมิตรเหล่านี้ ได้แก่ ‘ไพโรเวฟ’ (Pyrowave) ในการผลิตสไตรีนจากการรีไซเคิล (r-styrene), ‘คาร์ไบโอส์’ (Carbios) ในการผลิตพลาสติก PET จากการรีไซเคิล (r-PET), ‘เอ็นไวโร’ (Enviro) ในการพัฒนาคาร์บอนแบล็กจากการรีไซเคิล (rCB) รวมทั้งกับ ‘ไอเอฟพี เอเนอจีส์นูเวลล์ส’ (IFPEN) และ ‘แอคเซนส์’ (Axens) ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME) ในการผลิตบิวทาไดอีนจากชีวมวล (Bio-Butadiene) นอกจากนี้ มิชลินยังร่วมดำเนินโครงการ ‘อองแพรงท์’ (Empreinte)* กับหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME) และจัดตั้งโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ‘แบล็คไซเคิล’ (BlackCycle) และ ‘ไวท์ไซเคิล’ (WhiteCycle) ร่วมกับพันธมิตรสัญชาติยุโรปหลายราย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อแปรสภาพยางล้อที่สิ้นสุดอายุการใช้งานแล้วให้กลายเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงพิเศษสำหรับใช้ในการผลิตยางล้อใหม่
เพื่อนำตัวแปรต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของยางล้อต่อสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาอย่างรอบด้าน กลุ่มมิชลินได้ดำเนินการแบบ 360 องศาบนฐานการวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบไปจนถึงโซลูชั่นด้านการรีไซเคิลรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้กรอบของการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความพยายามดังกล่าวจึงส่งผลเหนือกว่าเพียงพัฒนาและนำวัสดุที่ยั่งยืนมาใช้ในการผลิตยางล้อ โดยยังมุ่งเป้าที่จะนำไปปฏิบัติในทุกระดับการดำเนินงานแต่ละขั้นของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ (ได้แก่ การออกแบบ, การผลิต, การขนส่ง, การใช้งาน และการสิ้นสุดอายุผลิตภัณฑ์)