บริษัท กว่างซี กุ้ยกัง ฝูส้วย อิเล็กทริก วิฮีเคิล จำกัด (Guangxi GuigangFushuai Electric Vehicle Co., Ltd.) และบริษัท พีที. ดีเอฟยู อินเตอร์เนชันแนล อินโดนีเซีย (PT. DFU INTERNATIONAL INDONESIA) ได้ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ล็อตแรกจำนวน 20,000 คัน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20 (20th China-ASEAN Expo) ได้จัดกิจกรรมเดินสายในต่างประเทศ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จากเขตกังเป่ยจึงยกทัพไปอวดโฉมที่สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ลาว และประเทศอื่น ๆ ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ประกอบการยานยนต์ต่างได้มาร่วมแลกเปลี่ยนและเจรจากับองค์กรในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดอย่างครอบคลุม ข้อมูลจากสำนักประชาสัมพันธ์เขตกังเป่ย เทศบาลเมืองกุ้ยกัง ระบุว่า แรงผลักดันเบื้องหลังการขยายตัวสู่ตลาดอาเซียนคือขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม อันเป็นผลพวงมาจากการสนับสนุนของเขตกังเป่ยตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 เขตกังเป่ยได้วางแผนสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จีน-อาเซียน (China-ASEAN New Energy Electric Vehicle Production Base) ปัจจุบัน ฐานการผลิตดังกล่าวได้ดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำมากกว่า 100 ราย อาทิ เอมมา (Emma), ลู่หยวน (Luyuan), ไท่หลิง (Tailg), ลิมา (Lima), ซูบู (Zuboo) และ โอพาย (OPAI) รวมถึงองค์กรธุรกิจอื่น ๆ เช่น ห่าวพ่าย (Haopai) และ เฟยเหนิง (Feineng) โดยมีองค์กรมากกว่า 50 แห่งที่สร้างโรงงานเสร็จสมบูรณ์และเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันกำลังการผลิตรถสองล้อไฟฟ้าอยู่ที่ 5 ล้านคันต่อปี ส่วนรถสามล้อไฟฟ้าอยู่ที่ 500,000 คันต่อปี และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 5 ล้านชิ้นต่อปี โดยมีอัตราการจับคู่ซื้อขายในท้องถิ่นอยู่ที่ 80% นอกจากนี้ ความหนาแน่นของแบรนด์ผู้ผลิต อัตราการจับคู่ซื้อขายชิ้นส่วน และระดับความชาญฉลาดล้วนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในเขตกังเป่ยได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพเยี่ยมแบบครบวงจร โดยมียานยนต์มากกว่า 100 รุ่นด้วยกัน ครอบคลุมทั้งจักรยานไฟฟ้า โมเพดไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าความเร็วสูง นอกจากนั้นยังครองตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมทั้งในแง่ของอายุแบตเตอรี่ ความปลอดภัย ความชาญฉลาด และการประหยัดพลังงาน ขณะที่ผลการทดสอบจากศูนย์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่กว่างซี (Guangxi New Energy Electric Vehicle Products Quality Testing Center) ก็จัดว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลค่าการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ในเขตกังเป่ยพุ่งขึ้นถึง 99.3% ขณะที่มูลค่าการผลิตรวมของห่วงโซ่อุตสาหกรรมทะลุ 2.1 หมื่นล้านหยวนด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงในราคาย่อมเยา รวมถึงการคว้าโอกาสจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และข้อตกลงการค้าอื่น ๆ ส่งผลให้ยอดส่งออกจากฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จีน-อาเซียน สูงกว่า 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565