การแข่งขันโครงการ Ford+ Innovator Scholarship รอบตัดสินในปีนี้ เริ่มต้นด้วยกิจกรรมในรูปแบบเวิร์กช็อป Hackathon ที่ทีมผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 13 ทีม ได้ร่วมกันเตรียมความพร้อม และฝึกฝนการนำเสนอหลังจากที่ทุกคนได้ผ่านการอบรมและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มาอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือน โดยผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากฟอร์ด และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จากทีวีบูรพา โดยผู้ชนะในปีนี้ ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘เตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน’ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเอาชนะผลการตัดสินไปด้วยแนวคิดที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสภาวะโลกรวนได้อย่างครอบคลุม ผ่านการออกแบบเตาอบไร้ควันใช้พลังงานหมุนเวียน แทนเตาปิ้งย่างและเตาอบแบบดั้งเดิมที่มีอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าและทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ เตาอบไร้ควันใช้พลังงานหมุนเวียน ยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารปิ้งย่างและอบได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีควัน หรือสารก่อให้เกิดโรค ลอยขึ้นไปติดที่ผิวของวัตถุดิบ ลดสารเจือปนในอาหาร อีกทั้งยังลดการปล่อยควันสู่สิ่งแวดล้อม
รางวัลชนะเลิศสำหรับภาคเหนือและภาคตะวันตก ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘รถยนต์ไฟฟ้า Kotaka สำหรับคนพิการ’ จาก วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เพื่อเป็นต้นแบบยานพาหนะของผู้พิการหรือผู้สูงอายุในการเดินทาง
รางวัลชนะเลิศสำหรับภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘เรือนำเที่ยวขนาดเล็กพลังงานแสงอาทิตย์’ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา ที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานในการขับเคลื่อนเรือนำเที่ยวในจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลภาวะทางอากาศ มลภาวะทางน้ำ มลภาวะทางเสียงจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ที่เกิดจากใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเป็นต้นแบบในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน
รางวัลชนะเลิศสำหรับภาคอีสาน ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘เครื่องกำจัดผักตบชวา สำหรับลดการตื้นเขินของแหล่งน้ำ’ จากวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี ที่มุ่งลดปัญหาจากการเพิ่มปริมาณผักตบชวาอย่างหนาแน่น ซึ่งส่งผลกระทบ การคมนาคมทางน้ำ การประกอบอาชีพประมงในชุมชน สิ่งมีชีวิตใต้น้ำ และขวางทางน้ำไหล โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี วิจัยและพัฒนาเครื่องกำจัดผักตบชวาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดสถานการณ์น้ำท่วมขังได้
รางวัลชนะเลิศสำหรับภาคใต้ ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ‘เรือไฟฟ้าเก็บขยะชายฝั่งทะเลและปะการัง’ จาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่มุ่งแก้ไขปัญหาขยะในทะเลและแนวปะการัง โดยนำเสนอความพยายามที่จะลดข้อจำกัดที่ในเรื่องของระยะกินน้ำลึก 1.50 เมตร ที่มีส่วนในการสร้างความเสียหายให้แนวปะการัง พร้อมออกแบบให้เรือมี 2 ท้องสำหรับน้ำตื้นติดตั้งร่วมกันระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า สามารถกักเก็บขยะลอย และใช้สายพานลำเลียงดึงเศษขยะในทะเลเข้าสู่ห้องเก็บขยะ นอกจากนี้ ยังมีความคิดี่จะนำขยะที่ได้ไปทำผลิตภัณฑ์อีกด้วย