สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยนายกสมาคมฯคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้จัดงาน iEVtech 2022 ร่วมกับบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ พร้อมพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), บริษัท โอเรียนเต็ลคอปเปอร์ จํากัด, บริษัท ทรุ้มพ์ฟ จำกัด, บริษัท นากาเซ่ (ประเทศไทย) จำกัด, บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จัดงานประชุมด้านยานยนต์ไฟฟ้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ประจำปี 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 14 – 16 กันยายน พ.ศ. 2565 และนับเป็นงานแรกที่ได้รับเกียรติมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างเป็นทางการ โดยพิธีเปิดงานได้จัดขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2565 ภายใต้แนวคิด “Future Mobility Aspiration through Bio-Circular-Green Economy within APEC” ซึ่งมีพิธีเปิด โดยนายกสมาคมฯคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคม และคุณสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตประเทศไทย เเละ คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) กล่าวต้อนรับพิธีเปิด
โดยคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้กล่าวว่า “ในปัจจุบันประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นจุดสนใจของคนทั้งโลก ซึ่งมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ดังนั้นการค้นหาแนวทางในการบรรเทามลพิษทางอากาศ จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคคมนาคม การใช้พลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงกลายเป็นเเนวทางเเก้ปัญหาสิ่งเเวดล้อมสำคัญของทุกประเทศ ซึ่งในงานประชุมนานาชาติด้านสิ่งเเวดล้อม COP26 ที่ผ่านมา ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ประเทศไทยได้นำแบบจำลอง “Bio-Circular-Green” หรือ BCG มาใช้ และย้ำว่าจะเป็นหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหัวข้อนี้จะอยู่ในวาระการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก(APEC) ที่กรุงเทพฯ ในปี 2565 อีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ได้เเก่ รถไฟฟ้าและ รถกระบะไฟฟ้าจำนวนกว่า 725,000 คัน หรือประมาณ 30% ของการผลิต รวมไปถึง เพิ่มการจดทะเบียนรถไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้าเป็นประมาณ 440,000 คันหรือประมาณ 50% ภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้นที่มีนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการผลิตเเละการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เเต่ประชาชนทุกภาคส่วน รวมไปถึง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้มีโอกาสสนับสนุน เเละส่งเสริม ความรู้ด้านเทคโนโลยี ผ่านการจัดการเเข่งขันการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้นักศึกษาทั้งในระดับอาชีวศึกษาและในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ร่วมกันสาธิตเทคโนโลยีการแปลงรถจักรยานยนต์ ให้เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในลักษณะการแข่งขัน เพื่อผลักดันเเละต่อยอดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงเเละยั่งยืน”