ฮอนด้าได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายฮอนด้าปี พ.ศ. 2593 (Honda Target 2050) ภายใต้ 2 ทิศทางหลัก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความปลอดภัย โดยภายในปี พ.ศ. 2593 มุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ของฮอนด้า มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมปลอดมลพิษ (Carbon Neutrality) รวมถึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุและลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกให้เป็นศูนย์ (Zero Traffic Collision Fatalities) ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันขณะที่ทั่วโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิอากาศ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและมีการปรับตัว สำหรับฮอนด้า เรามุ่งมั่นรักษาสมดุลในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป
นายโนริยุกิ ทาคาคุระ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสภาพแวดล้อมอย่างสมดุล เราให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ วิจัยและพัฒนา การผลิต ครอบคลุมถึงการขายและบริการ โดยเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ใช้พลังงานสะอาด และการหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและยังคงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเทคโนโลยีการขับเคลื่อน อี:เอชอีวี (e:HEV) ระบบฟูลไฮบริดประสิทธิภาพสูง ที่มอบสมรรถนะการขับขี่ทรงพลัง ประหยัดน้ำมัน และมีอัตราการปล่อยมลพิษที่ต่ำ โดยติดตั้งอยู่ในยนตรกรรมหลากหลายรุ่น อาทิ ฮอนด้า เอชอาร์-วี อี:เอชอีวี ใหม่ และฮอนด้า ซีวิค อี:เอชอีวี ใหม่โดยมาพร้อมกับเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ Honda SENSING ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน โดยฮอนด้าจะยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง”
ที่โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าทั้งที่ จ.ปราจีนบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา ในทุกขั้นตอนมีการเปลี่ยนทรัพยากรธรรรมชาติและนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการดำเนินงานบางส่วน ได้แก่การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป บนหลังคาทั้งที่โรงงานฮอนด้าอยุธยาและปราจีนบุรีในเฟส 1 รวม 5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงงานฮอนด้าอยุธยาติดตั้ง 2.5 เมกะวัตต์ และโรงงานฮอนด้าปราจีนบุรีติดตั้ง 2.5 เมกะวัตต์ เพื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานสะอาดไปใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงใช้เป็นไฟส่องสว่างในช่วงกลางคืนแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7,862 ตันต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึง 875,539 หรือคิดเป็นการปลูกต้นไม้มากกว่า 8,800 ไร่ (ข้อมูลอ้างอิงปี พ.ศ. 2564) และมีแผนขยายการติดตั้งในเฟส 2 ให้ครอบคลุมการใช้ไฟฟ้าทั้ง 2 โรงงาน ภายในปี 2566 โดยแบ่งเป็นโรงงานฮอนด้าอยุธยา ติดตั้ง 8.6 เมกะวัตต์ และโรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี ติดตั้ง 3.8 เมกะวัตต์ รวมการติดตั้งทั้ง 2 เฟส กว่า 17 เมกะวัตต์
โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าทั้ง 2 โรงงาน มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ทันสมัย เพื่อให้น้ำที่ผ่านการบำบัด มีคุณภาพ พร้อมหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่เพื่อประโยชน์สูงสุด อาทิ การนำน้ำที่บำบัดได้คุณภาพแล้วมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งนำไปผลิตน้ำ RO (RO recycle water) เพื่อใช้ในกระบวนการหล่อเย็นเครื่องจักร (Cooling Tower) นอกจากนี้ ยังมีการนำพลังงานน้ำมาช่วยในการขับเคลื่อนระบบสายพานลำเลียงชิ้นส่วน (Water Conveyor) ในสายการผลิต ซึ่งช่วยลดแรงงานคนในการขับเคลื่อนเครื่องจักร โดยน้ำที่ถูกปล่อยจากโรงงานฮอนด้าจะเป็นน้ำดีที่ผ่านการบำบัดแล้ว ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
โรงงานฮอนด้ามีพนักงานในสายการผลิตที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานอันเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยอย่างสูงสุด โดยได้นำเอาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยมาใช้ ทำให้การผลิตมีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง อาทิ
สายงานการพ่นสี Painting Line ใช้เทคโนโลยี Waterborne Paint ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวทำละลายแทนการใช้ทินเนอร์ และใช้กระบวนการเคลือบสี 3 ชั้น อบสีให้แห้ง 2 ครั้ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพ่นสี ลดการปล่อยสารระเหยที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และช่วยประหยัดพลังงาน
สายงานการฉีดขึ้นรูปพลาสติก Polymer Injection ใช้เครื่องฉีดขึ้นรูป มีการใช้ระบบ Eco-Servo Pump ช่วยลดพลังงานไฟฟ้าและมีความแม่นยำในการฉีดขึ้นรูปชิ้นงาน
สายงานการควบคุมการรับ-ส่งชิ้นส่วน Material Service Line มีการใช้ระบบ Digital Picking System ลำเลียงชิ้นส่วนสู่สายการผลิตอย่างรวดเร็วแม่นยำ
สายงานการประกอบรถยนต์ Assembly Line & Arc Line มีการนำแนวคิดการทำงานแบบ Kaizen มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้พนักงาน 1 คนสามารถประกอบได้หลายขั้นตอน ประหยัดเวลา ลดการเคลื่อนไหวที่สูญเปล่าในสายงานประกอบรถยนต์
สายงานการผลิตเครื่องยนต์ Engine Plant ยังมีระบบ Automated Guided Vehicles ช่วยลำเลียงเครื่องยนต์สำเร็จรูปสู่สายการประกอบอย่างรวดเร็ว