ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างบริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตที่มีฐานบัญชาการตั้งอยู่ในสตุ๊ทการ์ท ปอร์เช่ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทสัญชาติอเมริกัน UP.Labs เริ่มดำเนินการขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ โดยความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ล่าสุดเพื่อรองรับธุรกิจ Startups ด้านนวัตกรรมเป็นระยะเวลาถึง 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อตั้งองค์กรใหม่อีก 6 แห่งซึ่งมีโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ในหลากหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2023 – 2025 ทั้งนี้องค์กร Startups ดังกล่าว จะมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจหลักของปอร์เช่ อาทิ เรื่องการบำรุงรักษาตามกำหนดเวลา ความโปร่งใสในกระบวนการจัดการการผลิต และการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ รวมไปถึงกิจการค้าปลีกแบบดิจิทัล ทั้งนี้ปอร์เช่เผยงบประมาณการลงทุนเป็นตัวเลขโดยรวมกว่า 10 ล้านยูโรสำหรับโครงการนี้ ซึ่งองค์กร Startups เหล่านี้จะมีปอร์เช่เป็นหุ้นส่วนหลัก โดยมีทางเลือกในการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดได้ภายหลังผ่านไประยะเวลา 3 ปี ตามกำหนดสัญญา โดยปัจจุบันได้เริ่มกระบวนการพัฒนากับองค์กร Startups จำนวน 2 รายแรกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทั้ง 2 องค์กรจะได้รับการก่อตั้ง และเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปี 2022 นี้
Lutz Meschke รองประธาน และสมาชิกคณะกรรมการบริหารผู้กำกับดูแลส่วนงานการเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศของ Porsche AG กล่าวว่า เราต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้กับสิ่งที่เรามีอยู่ พร้อมกับการสร้างระบบนิเวศในลักษณะองค์กร Startup เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตไปข้างหน้าได้ไกลมากยิ่งขึ้น การร่วมมือกับ UP.Labs ในครั้งนี้ปอร์เช่สามารถรักษาระดับการเข้าถึงองค์กรได้อย่างโดดเด่น และไปสู่องค์ความรู้ในระดับนานาชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับแบรนด์ของปอร์เช่ให้ก้าวไปสู่อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ในระยะยาว นอกจากนั้นเรายังมุ่งมั่นต่อการสรรหาแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ ในเชิงนวัตกรรม โดยตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ปอร์เช่ได้เริ่มดำเนินการคัดเลือก และเข้าไปถือหุ้นในองค์กร Startups แล้วถึง 40 รายโดยประมาณ ซึ่งองค์กรเหล่านั้นประกอบไปด้วยบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สิ่งที่ทำให้ความร่วมมือครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม คือการที่ UP.Labs จะร่วมดำเนินงานกับทางปอร์เช่โดยตรง เพื่อพัฒนาองค์กร Startups ให้เป็นองค์กรเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อรองรับกับธุรกิจของปอร์เช่ นอกจากนั้นปอร์เช่เองจะมีวิธีในการผนวกองค์กรดังกล่าวเข้ามารวมเป็นหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการผสมผสานข้อได้เปรียบของการพัฒนาองค์กรแนวอิสระในตลาดได้อย่างชัดเจน อาทิเช่น การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในความสำเร็จของบริษัททั้งหมด เพื่อความสอดคล้องกับการดำเนินงานและการมีส่วนร่วมจากบุคลากรทุกคน รวมไปถึงความสามารถในการเข้าถึงปอร์เช่ได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย