นายโจฮัน คลาสัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย และการตลาด และหัวหน้างานด้านความยั่งยืน บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2565 สแกนเนียยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งที่ยั่งยืน พร้อมกับการขับเคลื่อนผลกำไรให้กับลูกค้าของเราด้วย โดยภายในปี 2564 ที่ผ่านมา สแกนเนียเป็นบริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกและรถโดยสารเพียงรายเดียวที่เข้าร่วมรับรองในบันทึกความเข้าใจระดับโลกที่ร่วมกันให้คำมั่นสัญญาที่จะทำให้ยานยนต์ในประเทศของตนปลอดมลภาวะภายในปี 2583 เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถเพื่อการพาณิชย์
นอกจากนี้ สแกนเนีย ได้เตรียมผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองทั้งการสร้างระบบการขนส่งที่ยั่งยืนพร้อมสร้างผลกำไรให้ลูกค้าไปพร้อมกัน ด้วยการนำหลักการขนส่งที่ยั่งยืน 3 ประการ ได้แก่1. ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Fuel Efficiency) ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ช่วยทำให้ใช้พลังงานน้ำมันสำหรับการเผาไหม้น้อยลง ปล่อยมลพิษน้อยลง และแน่นอนว่าต้นทุนขนส่งก็ลดลงไปด้วย เป็นการช่วยเพิ่มผลกำไรให้ธุรกิจไปพร้อมกัน 2. เชื้อเพลิงทางเลือกและพลังงานไฟฟ้า (Alternative Fuels and Electrification) สแกนเนียส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยไม่จำเป็นต้องทำการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ และสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการลดการปล่อยคาร์บอนโดยตรง และการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในภาคธุรกิจการขนส่ง และ 3.การขนส่งที่ชาญฉลาดและปลอดภัย (Smart and Safe Transport ) ปัจจุบันรถสแกนเนียมีการติดตั้งระบบที่จะช่วยดูแล แจ้งสถานะการทำงาน และตำแหน่งของรถได้แบบเรียลไทม์ เพื่อประเมินช่วงเวลาในการบำรุงรักษารวมทั้งแจ้งเตือนความผิดปกติของรถก่อนที่ขัดข้อง ทำให้ลูกค้าวางแผนการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุขัดข้องระหว่างการทำงาน ซึ่งส่งผลให้มีผลกำไรสูงขึ้นและมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยลง
นายโจฮัน กล่าวว่า “ พลังงานไฟฟ้า และ eMobility จะเป็นส่วนหนึ่งในอนาคตอย่างแน่นอน สแกนเนียให้ความสำคัญในการลงทุนและเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีใหม่ โดยในปีที่ผ่านมา เรามีการเปิดตัวรถทั้งไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่การผลิตรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และถือเป็นแบรนด์แรกของรถบรรทุก โดยสแกนเนียได้ทดสอบเปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่กับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปเพื่อดูถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มีผลดีต่อโลกมากกว่า นอกจากนั้นเรายังได้ส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ กับลูกค้า เช่น SCA, Jula Logistics และ Wibax สิ่งนี้แสดงให้ทั้งลูกค้า และเราเห็นว่ารถบรรทุกไฟฟ้าสามารถขนส่งทางไกล และขนส่งของที่หนักมาก เช่น ไม้ซุง ได้เช่นกัน สำหรับรถบรรทุกไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับข้อกำหนดเบื้องต้นของตลาด ความต้องการของลูกค้า ตลอดจนรูปแบบธุรกิจเสียก่อน โดยเป้าหมายของเราในปี 2565 คือรักษาความเป็นผู้นำ และสร้างความแข่งแกร่ง ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อปรับปรุงและพัฒนา Solution Sales ของเราให้ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า ”