ด้วยปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศที่มีสูงถึง 435,187 ตัน/ปี แต่กลับมีขยะที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้องตามมาตรฐานได้ไม่ถึง 10% นั่นหมายความว่าขยะเหล่านี้กำลังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง และกลายเป็นภัยมืดที่มองไม่เห็น เพราะไม่สามารถย่อยสลายรวมถึงยังทิ้งสารพิษตกค้างไว้อีกด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคเอกชนอย่าง AIS ตั้งใจอย่างยิ่งในการลุกขึ้นมาสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทยถึงผลกระทบของการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธี พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเตือนและเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากล ล่าสุดได้ผนึกกำลังกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หนึ่งในสมาชิกของ TBCSD – Thailand Business Council for Sustainable Development องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีสมาชิกกว่า 40 องค์กร โดย AIS ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ TBCSD เพื่อทำงานด้านนี้ด้วยกัน
โดยทั้ง 2 องค์กร ต่างมีเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินงานและรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน ทั้งการตั้งจุดรับทิ้งและรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ สำนักงานของ TOYOTA และได้ต่อยอดกระบวนการการจัดการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์หรือ Value Chain ตั้งแต่การแยกประเภทขยะ การทิ้ง การคัดแยก การรีไซเคิล ทำลาย ไปจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมเปิดตัวการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ของโตโยต้า นั่นคือ บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด หรือ WMS ผู้นำด้านการจัดการของเสียทุกประเภทอย่างครบวงจร ที่มีเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยการนำองค์ความรู้จากบริษัทแม่คือ DOWA Eco System Ltd. ประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีมากว่า 140 ปี มาเสริมประสิทธิภาพในการนำ E-Waste ที่รวบรวมได้จากโครงการฯ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Eco Friendly อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในกระบวนการเตรียมความพร้อมของขยะอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ด้วยเตาเผาแบบ Fix Combustion Furnace ของ WMS ที่นำเทคโนโลยีการจัดการแบบ Gasification จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อช่วยกำจัดสารอันตรายที่หลงเหลือให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการเผาอย่างสูงสุด
ทั้งนี้ เตาเผาดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด ใช้แล้วแบบครบวงจร” ที่ โตโยต้าและพันธมิตรทางธุรกิจได้เริ่มดำเนินการ ในปีพ.ศ. 2562 เพื่อวางรากฐานการบริหารจัดการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้เกิดแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการร่วมกันสร้างระบบการจัดการแบตเตอรี่ไฮบริดที่ผ่านการใช้งานแล้ว ตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บ การประเมินคุณภาพและนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดภายใต้แนวทาง การใช้ซ้ำ (Reuse) การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Rebuilt) โดยในส่วนของกระบวนการรีไซเคิล โตโยต้าได้ร่วมกับ บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ในการดำเนินงานการหลอมแบตเตอรี่ เพื่อนำแร่โลหะที่ได้จากกระบวนการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมิได้จำกัดความร่วมมือให้พร้อมรองรับแบตเตอรี่ไฮบริดใช้แล้วจากผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้สามารถรองรับธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ทุกรูปแบบอีกด้วย