การขี่มอเตอร์ไซค์แบบมีผู้ซ้อนท้ายไปด้วย แตกต่างจากการขี่คนเดียวค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าผู้ซ้อนจะมีน้ำหนักเบาก็ตาม เพราะน้ำหนักรวมของมอเตอร์ไซค์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเข้าโค้งยากขึ้น การเร่งความเร็วช้าลง และมีระยะเบรกเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ขับอาจจำเป็นต้องฝึกฝนเพิ่มเติมเพื่อให้คุ้นชินกับสภาพรถขณะมีผู้โดยสาร ในด้านของผู้ซ้อนควรทำความรู้จักมอเตอร์ไซค์ให้ดี เช่น ส่วนไหนร้อน ส่วนไหนวางเท้าได้ และส่วนไหนควรระวัง
ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรกเสมอเมื่อออกเดินทาง การแต่งตัวให้เหมาะสมเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้ขี่และผู้ซ้อนต้องเตรียมตัว ด้วยการเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม โดยควรสวมหมวกกันน็อคแบบเต็มใบ รองเท้าหุ้มข้อหรือรองเท้าบู๊ท และควรสวมใส่เสื้อหนังหรือผ้าไนล่อน ที่มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะขับขี่ ก่อนออกรถ ผู้ขี่และผู้ซ้อนควรตกลงวิธีการสื่อสารระหว่างกันเพื่อใช้ในขณะที่มอเตอร์ไซค์กำลังเคลื่อนที่ เนื่องจากการพูดคุยด้วยเสียงเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง โดยสัญญาณที่ควรตกลงกันไว้ เช่น ตบที่ไหล่ขวา 1 ที หมายถึงให้หยุดที่ปั๊มน้ำมันถัดไป ตบที่ไหล่ขวา 2 ที หมายถึงมีเรื่องด่วน ให้หยุดรถทันที หรือตบที่ไหล่ซ้าย เพื่อให้ลดความเร็วลง
การนั่งซ้อนท้ายมีผลต่อการควบคุมรถ และความสบายของผู้ขับขี่ ดังนั้นคนซ้อนควรนั่งให้ถูกวิธีเพื่อประสบการณ์การเดินทางที่สนุกสนาน ไม่ควรนั่งชิดคนขับมากเกินไป ดูให้แน่ใจว่าเข่าทั้งสองข้างอยู่แนบกับสะโพกของคนขับ เวลาเบรกให้บีบหัวเข่าเข้าหากัน เพื่อช่วยลดแรงเฉื่อย และเพื่อความปลอดภัยไม่ควรจับบาร์ท้าย เพราะอาจทำให้หงายหลังได้เวลาออกตัวด้วยความเร็ว การลงน้ำหนักตัวของผู้ซ้อนต้องไปด้วยกันกับการเคลื่อนตัวของมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้รถไม่เสียสมดุล โดยผู้ซ้อนไม่ควรฝืนตัวในทางเลี้ยวหรือทางเข้าโค้ง ให้โน้มน้ำหนักไปทางเดียวกับมอเตอร์ไซค์ เมื่อรถกำลังทำความเร็ว คนซ้อนควรถ่ายน้ำหนักไปที่สะโพก เพื่อความมั่นคงของร่างกาย และอาจขยับตัวไปด้านหลังเล็กน้อย เพื่อรับแรงเบรกเมื่อหยุดมอเตอร์ไซค์