ความสำเร็จในอดีตมักจะกลายเป็นตำนานที่เล่าต่อๆ รุ่นสู่รุ่น ซึ่งรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติอเมริกันก็มีตำนานที่ยาวนานพอดู แต่ก็มีน้อยที่ประสบความสำเร็จแล้วยืนยงอยู่ได้ หากจะพูดถึงรถมอเตอร์ไซค์จากแดนนี้คงหนีไม่พ้นฮาร์เล่ย์ – เดวิดสัน ที่ยืนยงได้จนถึงปัจจุบัน แต่เมื่องมองย้อนกลับไป ฮาร์เล่ย์ฯก็มีคู่แข่งเป็นเพื่อร่วมชาติที่ต่อสู้กันมาได้อย่างสมเกียรตินั่นก็คืออินเดียนี่เอง
เมื่อพูดถึงอินเดียนกลับเป็นแบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนฮาร์เล่ย์ฯ ด้วยซ้ำไป ในขณะที่ฮาร์เล่ย์ฯเกิดในปี 1903 แต่อินเดียนลืมตามาก่อนถึง 2 ปีและได้ทำเครื่องยนต์สูบวีออกมาในปี 1905 ก่อนที่จะขายจริงในปี 1906 สงครามโลกทำให้อินเดียนตกต่ำจากการผลิตรถส่งให้ทหารใช้ ซึ่งอินเดียนใส่แต่ของดีๆ ทำให้ขาดทุน ต่างจากคู่แข่งที่มีกำไร แต่จากรูปทรงที่เหมือนๆกันไม่มีโลโก้แปะไว้ จึงยากจะรู้ได้ว่ามาจากค่ายไหนกันแน่
หมดยุคสงครามอินเดียนก็เปลี่ยนมือเป็นว่าเล่นเป็นสมบัติผลัดกันชม สุดท้ายก็กลับมาอยู่ใต้ชายคาของคนอเมริกันเมื่อโพลาริสได้เข้าซื้อกิจการ พร้อมกับกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอินเดียนอีกครั้ง เป็นการเปลี่ยนจากเทคสเตลลิง แคน มาเป็นโพลาร์ลิสที่โด่งดังกับพวกรถเอทีวีและสกีออโตโมบิล จึงมีความสามารถในการผลิตได้ทั้งหมด รวมไปถึงเครื่องยนต์ที่เมื่อก่อนซื้อจากเอสแอนด์เอสด้วย
หัวใจของความสำเร็จอยู่ที่เครื่องยนต์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฮาร์เล่ย์ฯ ยืนยงมาได้จนถึงปัจจุบัน ทางอินเดียนจึงใช้เวลาเกือบๆ 2 ปี ในการออกแบบพัฒนาจนได้เครื่องยนต์ที่ทนทานทันสมัยมาใช้ ซึ่งเครื่องยนต์ธันเดอร์สโตรก 111 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบเครื่องยนต์ที่โด่งดังในอดีตของอินเดียน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สูบวีคล้ายกับ ปี 1948 เป็นเครื่องยนต์ที่มีครีบขนาดใหญ่ทั้งตัวเหมือนหัวเห็ด มีพุดรอดสั้นๆ
เครื่องยนต์ที่เหมือนกับอินเดียนชีฟ ในยุค’40 ทำให้เห็นถึงการทรงคุณค่าของเครื่องยนต์ยุคนั้นที่ยากจะหาใครเทียบ เป็นเครื่องยนต์ วี-ทวิน ทำมุม 49 องศา ระบายความร้อนด้วยอากาศ เครื่องยนต์ของชีพคลาสสิคจะเป็นเครื่องยนต์ ขนาด 1811 ซีซี ที่มีขนาดลูกสูบ 101 มม. ช่วงชัก 113 มม. เป็นเครื่องยนต์ใช้ก้านกระทุ้งคู่ ใช่ท่อไอเสียพุ่งลงพื้น แล้ววางท่อขนานไปกับพื้น เป็นการพิสูจน์ถึงรากเหง้ากับเครื่องยนต์ในยุคเก่าอย่างชัดเจน เครื่องยนต์ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดจากการสร้างบนกระดาษไปสู่การทดสอบในห้องทดลองและเส้นทางจริงๆกว่า 3.2 ล้านกิโลเมตร เพื่อมอบพลังในการขับขี่ของอินเดียน ให้กลายมาเป็นต้นแบบของรถอเมริกันยุคใหม่
การรวมเครื่องยนต์กับชุดเกียร์เข้าด้วยกันลดการเกิดรั่วซึมของน้ำมันเครื่องได้ดี แล้วส่งกำลังผ่านสายพานไปยังล้อหลังเพื่อความนุ่มนวล แม้มีพลังในการขับเคลื่อนที่มหาศาล แรงบิดของเครื่องยนต์มีสูงถึง 138.9 นิวตัน-เมตร ที่ 2,600 รอบต่อนาที ทำให้เรียกกำลังออกมาใช้ได้ทันทีตั้งแต่ออกตัว จ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีดไฟฟ้า ใช้ขนาดลิ้นปีกผีเสื้อ 54 มม.
การตัดต่อกำลังคลัตซ์แบบเปียกหลายแผ่นซ้อนกัน เป็นมอเตอร์ไซค์ครุยเซอร์ขนาดใหญ่ที่คุมง่าย เรียกกำลังมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยทอร์กที่สูง ความเร็วระดับ 80-180 กม./ชม. สามารถเปิดคันเร่งส่งได้เลย จะได้ยินเสียงที่ดุดันออกมาทางท่อคู่แบบเร้าใจ การขับขี่ยาวๆ ระดับ 40 กม./ชม. สามารถคงไว้ที่เกียร์ 6 ได้พร้อมเปิดคันเร่งได้เลยไม่ต้องลดเกียร์ ซึ่งการใช้เฟืองขับจะสึกหรอน้อยกว่าการใช้โซ่
รูปทรงของชีฟคลาสสิคจะคล้ายๆ กับอินเดียนยุคโบราณ โดยมีจุดเด่นอยู่ตรงบังโคลน ซึ่งจะมีหัวอินเดียนหัวหน้าเผ่าติดเอาไว้ด้านหน้าเป็นแก้วซึ่งฝังหลอดไฟเอาไว้พร้อมให้ความสว่างได้ถึงจะเป็นมอเตอร์ไซค์รูปทรงย้อนยุค แต่มีเทคโนโลยีใหม่ๆใส่มาให้เยอะ เห็นได้จากระบบเบรกเอบีเอสที่ช่วยสร้างความมั่นใจเวลาเบรกกระทันหัน บนถังน้ำมันก็จะมีมาตรวัดติดเอาไว้
เบาะหนังแท้สีดำ เป็นรูปทรงมาตรฐานแบบไม่ต้องตกแต่งเพิ่มสำหรับคนที่ชื่นชอบความคลาสสิก ที่มีราคา 1,475,000 บาท เบาะนั่งไม่สูงมากคนเอเซียทั่วๆ ไปขึ้นไปคร่อมแล้วสามารถวางเท้าได้เต็มฝ่าเท้าทั้งสองข้าง หากไม่เอียงจนน้ำหนักถ่ายไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็ไม่ยากในการควบคุมเจ้ายักษ์ใหญ่คันนี้