หากคนที่เคยได้สัมผัสกับรถแรงๆมีม้าเยอะๆก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่าคุมยากหากพลาดมาก็กลิ้งเป็นเรื่องปกติทำให้หลายค่ายพยายามหาวิธีที่จะทำให้รถที่มีแค่ 2 ล้อสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้นสามารถตัดสินใจแทนผู้ขับขี่ได้ในบางจังหวะเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดอันอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสัมผัสได้ในHonda CBR1000RR-R SPใหม่
ราคา 1,119,000 บาทอาจจะดูแพงไปสำหรับหลายๆคนแต่สิ่งที่อัดแน่นอยู่ในมอเตอร์ไซค์คันนี้คือเทคโนโลยีใหม่ๆที่อัดแน่นอยู่ในHonda CBR1000RR-R SP ที่สามารถสนุกได้ทั้งในสนามและบนท้องถนนด้วยการปรับให้รถมีความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ขับขี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่ใส่เข้าไปจนทำให้กลายเป็นรถแรงขี่ง่ายเหมือนกับม้าแข่งพันธุ์ดีที่ถูกฝึกให้เชื่องมือ
CBR1000RR-R SP ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นรถที่แรงมากๆแต่เน้นให้เป็นรถที่คุมได้ง่ายเชื่องมือมากกว่าทำให้ไม่เกร็งเวลาใช้งานบนท้องถนนหรือในสนาม เมื่อขึ้นไปคร่อมจะรับรู้ได้ถึงตัวรถที่ดูอ้วนขึ้นจากการปรับถังน้ำมันให้ต่ำลง45 มม.เพื่อจะได้วางกันคางของหมวกกันน็อคแนบติดกับถังน้ำมันเพื่อลดแรงปะทะของลมเมื่อขับขี่ในแบบ Racing Position
เวลาอยู่ในสนามตัวรถจะคุมได้ง่ายสามารถคลิกซ้าย-ขวาได้รวดเร็วจากการออกแบบมุมรถแฮนด์และพักเท้าที่ยกสูงเพื่อสร้างความมั่นคงในการขับขี่ช่วงความเร็วสูงๆอีกทั้งยังมีการกระจายน้ำหนักของเครื่องยนต์ระหว่างล้อหน้าและหลังอยู่ที่ 50: 50 และปรับองศาของกระจกบังลมหน้าจาก 45 องศาเป็น 35 องศาซึ่งจะช่วยลดแรงปะทะของลมได้ดีขึ้น
การเข้ามามีส่วนร่วมของทีม HRC ในการออกแบบ CBR1000RR-R SP ตัวรถจึงถูกออกแบบให้มีแอร์โรไดนามิกแบบรถแข่ง RC213V รวมถึงเฟรมรถก็ใช้พื้นฐานเดียวกันเป็นเฟรมที่ทำจากอลูมิเนียมแบบ Diamond มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนแรงบิดได้ทุกทางจึงสามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นคงเมื่ออยู่ในสนาม
ส่วนที่ต่อกับเฟรมจะเป็นซีทเรลหรือซับเฟรมถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดมากขึ้นเพื่อรองรับท่าทางการขับขี่ในสนามแข่งโดยใช้วัสดุอลูมิเนียมที่แข็งแรงพอๆกับเฟรมหลักความสูงของเบาะนั่งของ CBR1000RR-R SP สามารถวางเท้าติดกับพื้นได้ไม่ต้องเขย่งมากนัก
ขณะที่สวิงอาร์มจะทำจากอลูมิเนียมแบบเดียวกับ RC213V-S ไม่ได้หล่อขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวแต่จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนย่อยๆ18 ชิ้นที่มีความหนาต่างกันมีความยาวเพิ่มขึ้น 30.5 มิลลิเมตรแต่น้ำหนักยังคงเท่าเดิมพร้อมปรับ Balance ความแข็งแรงของสวิงอาร์มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าโค้งของล้อหลัง
เพื่อให้สามารถรีดความแรงจากเครื่องยนต์ได้เต็มที่จึงมีการปรับเปลี่ยนทุกระบบของเครื่องยนต์จนสามารถสร้างกำลังได้ถึง 162 แรงม้าที่ 10,500 รอบต่อนาทีเป็นกำลังที่สูงขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับตัวเก่าด้วยการใช้ Rocker Arm แทนแบบถ้วยเพื่อลดน้ำหนักและลดแรงเฉื่อยในการคืนตัวพร้อมเคลือบสาร DLC เพื่อลดแรงเสียดทานใช้เฟืองผสมโซ่ในการขับแคมชาร์ปทำให้โซ่มีความยาวน้อยลง
ใช้ลูกสูบอลูมิเนียมแบบปั๊มขึ้นรูปน้ำหนักเบาก้านสูบเป็นไทเทเนียมช่วยลดน้ำหนักได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ส่วนน๊อตยึดก้านสูบจะเป็นเหล็กวานาเดียมสามารถลดน้ำหนักและลดแรงเสียดทานได้ดีขึ้น ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับข้อเหวี่ยงที่คำนวณทุกๆ10 องศาทำให้การจุดระเบิดมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ไม่ต้องกังวลว่าอากาศจะไม่พอใช้ในรอบสูงๆเพราะ CBR1000RR-R SP ได้ออกแบบทางเข้าของอากาศตรงหน้ารถมีขนาดพอๆกับ RC213V เพื่อส่งอากาศเข้าสู่หม้อกรองได้โดยตรงโดยหม้อกรองมีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถเพิ่มพื้นที่กองอากาศได้มากถึง 116เปอร์เซ็นจึงมีอากาศพอในทุกๆความเร็วขณะที่เรือนลิ้นเร่งก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 52 มม.จากเดิม 48 มม.การออกแบบให้ลิ้นปีกผีเสื้ออยู่ใกล้ห้องเผาไหม้มากขึ้นรวมถึงการปรับเปลี่ยนหัวฉีดในการปรับตำแหน่งการฉีดเชื้อเพลิงช่วยให้การคลุกเคล้าของไอดีและการจัดส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้ทำได้อย่างรวดเร็ว
เมื่ออยู่ในโค้งความเร็วต่ำสามารถลดเกียร์ลงมาได้ถึงเกียร์ 1 ซึ่งสนามช้างจะอยู่ที่โค้ง 3 กับโค้ง 12 โดยรถไม่มีอาการสะบัดเสียการทรงตัวด้วยสลิปเปอร์คลัชที่ไม่ต้องกำคลัทช์เวลาเปลี่ยนเกียร์มีการเพิ่มแผ่นคลัชจาก 9 เป็น 10 แผ่นเพื่อรับแรงเสียดทานที่สูงขึ้นตอนออกจากโค้งจึงทำได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีอาการส่ายซึ่งจะทำได้ไม่ง่ายในรถรุ่นเก่าๆ
จากเดิมที่เคยใช้น้ำในระบบหล่อเย็นมาระบายความร้อนให้กับน้ำมันหล่อลื่นแต่ใน CBR1000RR-R SP จะมีแผงรับอากาศโดยตรงทำให้การระบายความร้อนให้กับน้ำมันเครื่องทำได้รวดเร็วเวลาใช้รอบสูงๆต่อเนื่องในสนามแข่งที่ต้องเปลี่ยนเกียร์กันในช่วงหนึ่งหมื่นถึงหมื่นสามพันรอบก็ยังสามารถเรียกกำลังออกมาใช้ได้อย่างเต็มสมรรถนะ
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ก็คือท่อไอเสียใน CBR1000RR-R SP ทาง Honda ได้วิจัยและพัฒนาร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านท่อไอเสียของยุโรปอย่าง AKRAPOVIC เพื่อใช้สำหรับติดรถเป็นท่อไอเสียที่มีขนาดใหญ่ขึ้นปากท่อจะเป็นวงรีมีแคตตาไลเซอร์ที่ใหญ่ขึ้น 10 มิลลิเมตรมีระบบวาล์วควบคุมไอเสียเพื่อช่วยลดมลพิษและปลดปล่อยพลังออกมาได้อย่างเต็มที่ในรอบสูงๆ
นอกจากจะได้ท่อไอเสียจากค่ายดังแล้วระบบกันสะเทือนในรุ่น SP ก็ยังได้โช๊คอัพหน้าหัวกลับของ Ohlins รุ่น NPX มาใช้งานเป็นโช๊คอัพไฟฟ้า Gen 2 ที่สามารถปรับค่ากันสะเทือนผ่านจอเรือนไมล์ได้พร้อมฟังชั่นการขับขี่ที่ต่างกันถึง 3 ระดับส่วนเบรกคู่หน้าจะเป็น Brembo Stylema4 พอตมีจานขนาดใหญ่ขึ้นหนา 5มม.กว้าง 330 มม.
ส่วนระบบกันสะเทือนหลังจากยึดติดกับเครื่องยนต์ไม่ได้ยึดติดกับเฟรมแบบเก่าทำให้แรงสะเทือนไม่ส่งมาที่แฮนด์ช่วยให้ควบคุมรถได้นิ่งขึ้นเวลาเข้าโค้งและช่วงใช้ความเร็วสูงๆโช๊คอัพหลังเป็นของohlinsเช่นกัน ส่วนเบรกแบบ 2 พอต Brembo พร้อมระบบ ABS ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าโค้งและควบคุมอาการท้ายยกจึงสามารถใช้เบรคหน้าเพียงอย่างเดียวเพื่อลดความเร็วตอนเข้าโค้งได้
หน้าจอแสดงผล Full Color TFT Meter ขนาด 5 นิ้ว แสดงข้อมูลครบถ้วนแบบเดียวกับที่ใช้ในสนามแข่งขัน พร้อมสวิตซ์การควบคุมแบบ 4-way ช่วยให้การปรับตั้งค่าต่างๆ ทำได้สะดวกขึ้น
ส่วนหนึ่งที่ทำให้รถนิ่งให้ความแม่นยำและปลอดภัยในทุกสภาพการขับขี่ ด้วยระบบ HSTC (Honda Selectable Torque Control) ควรคุมการหมุนของล้อให้มีความสัมพันธ์กัน พร้อมโช้คกันสะบัดไฟฟ้าที่รับข้อมูลมาจากล้อหน้า-หลังใช้เซนเซอร์ IMU แบบ 6 แกนเพื่อวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำซึ่งเซนเซอร์ IMU ที่ตรวจจับแบบ 6 แกนจะเหมือนกันกับใน RC213V-S ทำให้การควบคุมสมดุลของตัวรถในการขับขี่หลายรูปแบบได้อย่างแม่นยำทำให้ควบคุมรถได้ดีขึ้นสร้างความมั่นใจในการขับขี่ได้มากขึ้นเมื่อสร้างความคุ้นเคยกันแล้วก็สามารถใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นได้อย่างมั่นใจ