ก่อนที่จะเป็ซีวิค ไฮบริดรุ่นนี้ ก่อนหน้านั้นค่ายฮอนด้าได้นำซีวิค ไฮบริดเข้ามาขายแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เพราะราคารถนำเข้าราคาระดับสองล้านนั้นมันเกินเอื้อมสำหรับคนไทยที่อยากได้รถประหยัดพลังงานมาใช้ เพราะถ้าจ่ายเพิ่มอีกล้านสู้เอามาเป็นค่าน้ำมันจะดีกว่า
พอนำซีวิค ไฮบริด มาประกอบขายในเมืองไทย ราคาลดลงครึ่งหนึ่งทันที คราวนี้ค่อยน่าสนใจหน่อย เหตุที่ลดราคาลงได้เพราะรัฐอุดหนุนรถไฮบริดเก็บภาษีต่ำ หรือไม่เก็บเลย สำหรับอุปกรณ์ไฮบริด ทำให้ราคาขายของรถจึงใกล้เคียงกับรุ่นปกติ
แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมไปบ้างแต่ก็ไม่ห่างไกลกันนัก ที่เด่นๆ จะเป็นเรื่องของกระจังหน้ามีช่องรับลมขนาดเล็ก เป็นการแสดงภาพลักษณ์ของความเป็นรถไฮบริด ใช้ฐานของกระจังหน้าเป็นสีตัวถัง มีเลนส์สีเคลียร์บลูและกรอปไฟหน้าสีฟ้า ล้ออัลลอยด์ขนาด 15 นิ้วถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาและมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำ ส่วนไฟท้ายจะตกแต่งด้วยเลนส์สีเคลียร์บลู เพื่อความล้ำสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไฟท้ายจะเป็นแอลอีดี
ระบบไฮบริดที่ใช้ในซีวิค ทางฮอนด้าเลือกระบบที่ถนัดคือแบบคู่ขนานที่ใช้เครื่องยนต์เป็นขุมกำลังหลักในการขับเคลื่อน แล้วใช้มอเตอร์ช่วยเสริมกำลัง เป็นระบบไฮบริคที่ไม่ซับซ้อน จึงมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา เป็นส่วนช่วยในการเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่และความประหยัด โดยไม่ทิ้งสมรรถนะแบบที่เคยมี ในช่วงที่ต้องใช้กำลังเต็มคือช่วงออกตัวและเร่งแซง พอทำความเร็วได้ในระดับหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์มาก ดังนั้นซีวิค ไฮบริดจึงเลือกเครื่องยนต์ ไอเอ็มเอ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่มีการเพิ่มแรงบิดและลดแรงเสียดทานมากขึ้น
เครื่องยนต์ ไอ-วีเทค 1.5 แอล เป็นขุมกำลังหลัก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ ซิงเกิ้ล แคม 16 วาล์ว ความจุ 1,497 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 91 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 132 นิวตัน-เมตร ที่ 2,800 รอบต่อนาที เป็นเครื่องยนต์ที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิ มีการปรับช่วงเปิด-ปิด วาล์ว ให้เหมาะสม
ติดตั้งระบบควบคุมการหล่อเย็น ลูกสูบถูกเคลือบใช้สารเคลือบ MoS2 มีโซ่ที่บางลงและมีการปรับชิ้นส่วนเลื่อนตัวของวงแหวนแถวที่สอง เมื่อเป็นเครื่องยนต์ที่ต้องทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าจึงใช้กล่องอีซียูใหม่ มีระบบควบคุมการทำงานแบบผสานพลังกับระบบส่งกำลังในการควบคุมการชาร์จไฟแบบโปรแอคทีฟ
ท่อร่วมไอดี มีการปรับความยาวให้เหมาะกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ใช้ฝาครอบลูกปืน เอฟซีและมีระบบทำความเย็นรวมศูนย์แนวยาว มอเตอร์ถูกออกแบบให้ลดแรงเสียดทานด้วยการเพิ่มจำนวนขั้วของมอเตอร์ ลดความร้อนที่เกิดจากแม่เหล็กและเพิ่มความเข้มข้นของกระแสแม่เหล็กจะให้กำลังสูงสุด 23 แรงม้า ที่ 1,546-3,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 106 นิวตัน-เมตร ที่ 500 – 1,546 รอบต่อนาที เป็นมอเตอร์ที่น้ำหนักเบากว่าเมื่อเทียบกับที่ใช้ซีวิคไฮบริดรุ่นที่แล้ว
เป็นปกติของรถไฮบริดที่เลือกระบบส่งกำลังเป็นเกียร์ซีวีที ในซีวิค ไฮบริด เกียร์ซีวีทีจะถูกปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการลดแรงเสียดทานของแรงดันด้านข้างของพูเลย์ เพิ่มเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิแรงดันน้ำมัน เพิ่มวาล์วสะสมแรงดันน้ำมันด้านเฟืองท้าย มีการลดแรงดึงของสายพานด้วยการลดแรงดันด้านข้างของพูเลย์และเปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้ายและความกว้างเกียร์
ในส่วนของแบตเตอรี่ ก็มีการเปลี่ยนจากนิเคิลเมธัลไฮไดรด์ ทรงกระบอก 132 ก้อน มาเป็นแบบลิเธียม ไออน ทรงสี่เหลี่ยม 40 ชุด ที่มีแรงดันไฟฟ้า 144 โวลต์ ให้กำลัง 27.2 แรงม้า น้ำหนัก 22 กก. เป็นแบตเตอรี่ ที่เล็กลง น้ำหนักเบาเก็บประจุได้มากขึ้น
การปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ ทำให้สมรรถนะของซีวิคทำได้ดีขึ้น ถึงจะเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ก็ตาม แต่การออกตัวทำได้ดีไม่แพ้รุ่น 1.8 เพราะมอเตอร์ที่นำเข้ามาเสริมกำลังให้แรงบิดตั้งแต่รอบต่ำที่ 500 รอบต่อนาที ช่วงเร่งแซงยังรู้สึกว่าด้อยกว่ารุ่น 1.8 เกียร์ออโตเฟืองบ้างตามสไตล์รถเกียร์ซีวีที จึงต้องค่อยๆ เติมคันเร่ง ไม่กดเร็วๆ เพื่อให้ได้ความประหยัด พอใช้ความเร็วคงที่เครื่องยนต์จะทำงานเพียงอย่างเดียว
ช่วงความเร็วต่ำคงที่ เครื่องยนต์จะหยุดทำงานแล้วให้มอเตอร์ขับเคลื่อนแทนเพียงแต่ได้ระยะไม่ไกลมากเท่านั้นเอง ช่วงเบรกเครื่องยนต์จะหยุดทำงาน ระบบจะนำพลังงานที่สูญเสียเวลาเบรกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเข้าไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ไฮบริดใช้ในโอกาสต่อไป