ภาครัฐให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการลดมลพิษในอากาศในระยะยาว สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญ โดยในปี ค.ศ. 2019 มีการผลิตอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมครั้งที่ 1 ได้มีการเห็นชอบ แผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน ระยะกลาง (2021-2025) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน ระยะยาว (2026-2030) ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน
พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการมาตรการยานยนต์เก่าแลกยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) โดยการนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมตลาดและการจัดการซากยานยนต์ โดยจะมีการศึกษาการจัดการซากยานยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการจัดการซากรถยนต์ที่เป็นระบบ ลงทุนการรีไซเคิลซากรถยนต์และแบตเตอรี่ และเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รองรับการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ 2.63 บาท ต่อหน่วย และตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะให้ตั้งภายในรัศมี 50-70 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางระยะไกล ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้