ไม่ธรรมดาสำหรับยอดขายกว่า 1.9 ล้านคันทั่วโลกของเชฟโรเลต ครูซ แต่ในเมืองไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักตั้งแต่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 53 ถือว่ายังน้อยไปสำหรับรถยนต์ระดับซับคอมแพ็คที่มียอดขายกันเยอะ จุดที่เชฟโรเลตพลาดคือเรื่องของอัตราเร่ง ถึงจะมีรูปโฉมที่โดดเด่น แต่พอขับจริงกลับให้ความรู้สึกที่ไม่แตกต่างไปจากการขับออพตรา อีกทั้งในรุ่นดีเซลก็ยังไม่แสดงศักยภาพออกมาให้เห็นชัดเจนนัก เทียบกับฟอร์ดดีเซลนั้นยังห่างไกล
ในงานมอเตอร์โชว์ปี56เชฟโรเลตจึงเปิดตัวครูซในแบบไมเนอร์เชนจ์ออกมา โดยมีการปรับเปลี่ยนกันชนหน้า ไฟตัดหมอก ใส่กรอบโครมเมี่ยมตรงมุมให้กับไฟตัดหมอกและเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ให้โลโก้ดูเด่นขึ้น ส่วนกันชนหลังก็ใช้สไตล์สปอร์ตมาพร้อมกับล้ออัลลอยด์ลายใหม่
ขณะที่ภายในก็ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ โดยใช้การตกแต่งรุ่นแอลทีแซดด้วยสีน้ำตาลแดง พร้อมกับเพิ่มรายละเอียดและพื้นผิวสัมผัสตรงคอนโซลกลางเพื่อความหรูหรามากขึ้น เปลี่ยนปุ่มสตาร์ทให้เป็นทรงกลมแทนสี่เหลี่ยมเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น
การปรับเปลี่ยนแค่นี้คงจะไม่ได้ทำให้ครูซขายดี จึงมีหมัดเด็ดอยู่ตรงการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์1.8 ลิตร ให้สามารถใช้ อี 85 ได้และมีเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดเจนเนอเรชั่น ที่ 2 ที่ทำให้การส่งกำลังต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผลให้อัตราเร่งดีขึ้นทั้งเบนซินและดีเซล ครูซมีการปรับเปลี่ยนถังน้ำมัน ท่อทางเดินน้ำมัน ปั้มเชื้อเพลิง แคมเปอร์เชื้อเพลิง และเซ็นเซอร์แรงดันสายเชื้อเพลิง หัวใจหลักก็คือการปรับซอฟท์แวร์และกล่องอีซียูเพื่อให้ใช้น้ำมันเบนซินได้ทุกชนิดที่มีขายในเมืองไทย มีอี 85 ที่มีส่วนผสมของแอลกอออล์เยอะที่สุดถึง 85 % โดยมีเซ็นเซอร์ทำงานร่วมกันหลายตัวพร้อมกับเปลี่ยนหัวฉีดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการลำเลียงเชื้อเพลิงให้มีการไหลลื่นกว่าเดิม ระบบคอมพิวเตอร์จะตรวจจับปริมาณ เอทานอลที่มีผสมอยู่
กับคุณสมบัติของเอทานอลที่ต่างออกไป เครื่องยนต์จึงถูกเสริมด้วยความแข็งแกร่งของสแตนเลสในบางชิ้นส่วน ตัววาล์วและบ่าวาล์วก็ถูกปรับปรุงใหม่เช่นกัน พวกที่เป็นยางก็ออกแบบให้รองรับเอทานอลได้เต็มที่ ถึงแม้ว่าอี 85 จะกินกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันเบนซินธรรมดา แต่จะมีค่าออกเทนมาก ถึง 101 หากกล่องควบคุมทั่วๆไปคงจะปรับกำลังไฟได้ไม่ดี พอมีกล่องควบคุมใหม่ทำให้อัตราเร่งของรุ่นนี้ดีขึ้นผิดหูผิดตา ด้วยกำลังสูงสุด 141 แรงม้า ที่ 6,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 177 นิวตัน-เมตร ที่ 3,800 รอบ/นาที จากเครื่องยนต์ 4 สูบ ทวินแคม บวกกับระบบส่งกำลังใหม่ ทำให้อัตราเร่งดีขึ้นทันตาเห็น การเร่งแซงทำได้รวดเร็วขึ้น การคุมรถในโค้งก็ทำได้ดีเมื่อสามารถส่งกำลังออกมาได้ทันทีไม่ต้องรอนานเหมือนรุ่นแรก
เครื่องยนต์ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า แรงบิด 360 นิวตัน-เมตร มีการติดเพลาถ่วงสมดุลเพื่อลดเสียงรบกวนแรงสั่นสะเทือนและความสะท้าน ให้ความรู้สึกเหมือนกับการขับรถเครื่องยนต์เบนซิน อัตราเร่งดีกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเบนซิน แต่พอความเร็วสูงจะเห็นความโดดเด่นของอัตราเร่งของเครื่องยนต์ดีเซลได้อย่างชัดเจน ต้องยกนิ้วให้กับระบบส่งกำลังใหม่ที่ช่วยเน้นสมรรถนะของครูซออกมาได้เต็มที่