โพลีพลาสติกส์ กรุ๊ป (Polyplastics Group) ซัพพลายเออร์เทอร์โมพลาสติกวิศวกรรมชั้นนำระดับโลก ประกาศเปิดตัว DURACIRCLE (TM) โครงการริเริ่มเพื่อการรีไซเคิลพลาสติกวิศวกรรม โดยความพยายามนี้ครอบคลุมถึงโซลูชันด้านความยั่งยืนที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การบรรลุอัตราการรีไซเคิลพลาสติกวิศวกรรม 100% โดยไม่ถูกจำกัดด้วยรูปแบบธุรกิจการผลิตและการจำหน่ายพลาสติกในปัจจุบัน เป้าหมายของโพลีพลาสติกส์คือการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593
โครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนระยะที่หนึ่งประกอบด้วยการเปิดธุรกิจบริการรีคอมพาวนด์DURACIRCLE (TM) Re-compounding Service ขึ้นใหม่ เพื่อนำเสนอวัสดุรีไซเคิลเชิงกลคุณภาพสูง โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การรีไซเคิลเชิงกลเป็นวิธีการหลอมขยะพลาสติกด้วยความร้อนและแปรรูปกลับมาเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ
DURACIRCLE (TM) Re-compounding Service มีความแตกต่างจากการรีไซเคิลแบบเดิมอย่างชัดเจน โดยมีเป้าหมายคือการรีไซเคิลแบบปิด (Horizontal Recycling) ซึ่งถือว่าทำได้ยากสำหรับพลาสติกวิศวกรรม เนื่องจากวัสดุที่นำกลับมาใช้งานต้องมีคุณภาพสูง ทั้งนี้ การรีไซเคิลแบบปิดเป็นวิธีการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์เพื่อนำกลับมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เดิม เช่น การนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นขวดพลาสติกเหมือนเดิม
วัสดุที่ยังไม่ผ่านการบริโภค (Pre-consumer Material) ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังกระบวนการผลิตได้และไม่มีข้อกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิล ทั้งนี้ วัสดุที่ยังไม่ผ่านการบริโภคคือวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น พลาสติกจากกระบวนการฮอตรันเนอร์ (Hot Runner) และผลิตภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด (Non-conforming Product) ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะถึงมือผู้บริโภค หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม (Post-Industrial Recycling (PIR) Material)
นอกเหนือจากการขยายโครงการ DURACIRCLE (TM) ไปยังตลาดต่าง ๆ นอกประเทศญี่ปุ่นแล้ว โพลีพลาสติกส์ยังมีแผนที่จะพัฒนาและนำเสนอเทคโนโลยีการรีไซเคิลสำหรับวัสดุรีไซเคิลที่ผ่านการใช้งานโดยผู้บริโภคมาแล้ว (Post-Consumer Recycled (PCR) Material) ซึ่งนำมาแปรรูปได้ยาก นอกจากนี้ เนื่องจากความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โพลีพลาสติกส์จึงพัฒนาโซลูชันแห่งอนาคตสำหรับการรีไซเคิลเชิงกล การรีไซเคิลเชิงเคมี และวัฏจักรคาร์บอนไบโอเจนิก