นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมเป็นเกียรติภายในงานฉลองความสำเร็จครบรอบ 10 ปี โครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับ การพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยอย่างครบวงจร ควบคู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ณ TOYOTA ALIVE เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ริเริ่มโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยเกิดจากความมุ่งหวังที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินงานของธุรกิจชุมชนไทย อันเป็น ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มพูนกำไร และดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืนโดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ได้มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” โดยร่วมศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า (Toyota Way) ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS : Toyota Production System) และหลักการไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ มีส่วนช่วยให้การดำเนินงานของธุรกิจเหล่านี้มีการพัฒนาและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และสร้างผลกำไร พร้อมทั้งได้มีการยกระดับไปสู่การเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” 6 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศนอกจากนี้ โตโยต้ายังได้มีการขยายผลโดยนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ ไปถ่ายทอดเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ นครราชสีมา ชลบุรี และโครงการ ชุมชนดีพร้อม ตลอดจนการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศอีกด้วย ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ของโครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจต่างๆไปแล้ว 2,089 ธุรกิจ ช่วยเพิ่มพูนผลกำไรได้เป็นมูลค่ารวม 805 ล้านบาท และส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้คนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้ไปแล้วกว่า 100,000 คน
สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 11 ของโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ มีความมุ่งหวังที่จะยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ อาทิเช่นการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชน ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการชุมชน ในการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐาน พร้อมเสริมความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ร่วมกับการเสริมทักษะในด้านอื่นๆที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการสนับสนุนจากกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติผ่านกลไกความร่วมมือ Global Player ซึ่งจัดขึ้นโดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ภายใต้การดำเนินการร่วมกับบริษัทโตโยต้า ออโต้ บอดี้ ประเทศไทย จำกัด ตลอดระยะเวลา 3 ปี กับอีก 23 บริษัท โดยการนำองค์ความรู้ทั้งด้านการจัดการการผลิตและการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการไทยการร่วมดําเนินโครงการอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน
ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทย ผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า โดยส่งเสริมทั้งในด้านผลิตผล คุณภาพ การส่งมอบสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทาง ของภาครัฐ ที่ส่งเสริมนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่ระดับชุมชน ในขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งพร้อม ให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไทยอย่างรอบด้าน จะเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มการพัฒนาในด้านอื่นๆที่ผู้ประกอบการไทยต้องการ อาทิ ทักษะการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ การตลาด การเงินการบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ โดยองค์ประกอบทางความรู้ต่างๆเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป