หากพูดถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก จะเห็นได้ว่ากระแสของยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ซึ่งกระแสความนิยมนี้เกิดขึ้นจากการที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับปัญหาวิกฤตพลังงานและภาวะโลกร้อนที่เกิดเป็นข้อตกลงในสนธิสัญญาปารีส (COP 21) โดยสมาชิกทั้ง 195 ประเทศจะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ในปี 2030 ทำให้หลายประเทศเริ่มประกาศแนวนโยบายยกเลิกการใช้รถยนต์สันดาปที่ใช้แหล่งพลังงานจากน้ำมัน (Internal Combustion Engine; ICE) ไปสู่ยานยนต์ไร้มลพิษที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle; EV)
จากการรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency; IEA) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 2 เท่า อยู่ที่ 6.6 ล้านคัน โดยร้อยละ 53 ของยอดขายทั่วโลกอยู่ที่ประเทศจีน รองลงมาเป็นตลาดยุโรป ร้อยละ 33 และตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 11 ปัจจุบันคาดว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการใช้งานทั่วโลกประมาณ 16 ล้านคัน ขณะที่ประเทศไทยการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายนัก
เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ราคาสูง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่มีเพียงพอ เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค รัฐบาลจึงประกาศจุดยืนผลักดันไทยเป็น “ศูนย์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ตามแนวทางการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า “การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว โดยมีภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนร่วมกำหนดนโยบายขับเคลื่อนและสร้างระบบนิเวศในการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านกำลังคน มาตรฐาน กฎระเบียบ ให้พร้อมต่อการใช้งาน เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในอาเซียนได้ ตลอดจนทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม NIA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ก็มีนโยบายที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยอย่างกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าผ่านโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า ประจำปี 2566 นี้
“การสนับสนุนนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า เป็นการเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของประเทศ สำหรับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องจะมีการสนับสนุนทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและส่วนประกอบสำคัญ การบริการและแพลตฟอร์มสนับสนุน ตลอดจนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ ธุรกิจนวัตกรรมผลิตยานยนต์ที่มีการสื่อสารและเชื่อมโยงถึงกัน ซอฟต์แวร์เพื่อใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า การให้บริการสถานีชาร์จ และการบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคการลงทุนและหน่วยงานด้านการส่งเสริมนวัตกรรมของภาครัฐได้เห็นมุมมองใหม่ที่เป็นประโยชน์จากแผนธุรกิจและความแตกต่างในเชิงเทคนิค ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูและเดินหน้าเศรษฐกิจหลังจากนี้ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัย และกำลังคนที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก”