ประเทศไทยมีความพร้อมสูงในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลของเจแอลแอล (NYSE: JLL) ระบุว่าศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและการลงทุนจากต่างประเทศ จะมีมูลค่าอย่างน้อย 6.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 220,000 ล้านบาท) ภายในปี 2573 และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้ประเทศสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตและนวัตกรรมในระดับภูมิภาค
เจแอลแอลคาดการณ์ว่าขนาดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามนโยบาย “30@30” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยที่กำหนดเป้าหมายให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 30% ต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 นั้น นับว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งนโยบาย 30@30 นั้นประกอบด้วยเงินอุดหนุนจำนวนมาก การลดภาษี และมาตรการ EV 3.5 ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2567-2570
ในปี 2567 การผลักดันด้านกลยุทธ์ของไทยสามารถดึงดูดเงินทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมที่ทำสัญญาแล้วประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ โดยเงินทุนก้อนใหญ่นี้ยังรวมถึงเงินลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์ (49 พันล้านบาท) จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนซึ่งรวมถึงบริษัทบีวายดี (BYD) และเงินลงทุน 4.4 พันล้านดอลลาร์ (150 พันล้านบาท) โดยผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น นอกจากนี้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย 30@30 เพื่อให้สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% จากทั้งหมดตามเป้าหมายภายในปี 2573 ประเทศไทยจำเป็นต้องผลิตแบตเตอรี่มากกว่า 34 GWh ให้ได้จากภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการแสวงหาพื้นที่เพื่อการผลิตและพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมใหม่นี้ด้วย โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 ไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้ารวมที่ 167,000 คัน ซึ่งคิดเป็น 26.4% ของเป้าหมายปี 2573 ซึ่งต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 440,000 คัน