เป็นปีสุดท้ายของวีโก้ก่อนถูกปรับเปลี่ยนโฉมแบบโมเดลเชนจ์ ทางโตโยต้าก็ยังทำการปรับปรุงให้วีโก้มีความลงตัวมากขึ้น แม้จะไม่ได้ปรับวีโก้ก็ดูไม่ขี้เหร่ เห็นได้จากยอดขายก็ยังคงนำอยู่ในกลุ่มรถกระบะในขณะนั้นทำให้จุดด้อยหลักๆของวีโก้ถูกปรับให้ดีขึ้น รวมถึงพวกอุปกรณ์ต่างๆก็ปรับให้ทันสมัยมากขึ้น สำหรับรถที่ออกมาเกือบสิบปีจะให้ทันสมัยเหมือนรถรุ่นใหม่คงจะยาก แต่การเพิ่มอุปกรณ์ใหม่ๆ เข้าไปก็ช่วยให้วีโก้ยังขายไปต่อได้ วีโก้รุ่นแรกถูกผลิตขึ้นมาใช้เวลาไม่นานก็ก้าวขึ้นสู่แชมป์รถกระบะและยังรักษาได้ถึงปีสุดท้ายแล้วส่งต่อให้รีโว่ เพื่อให้ได้ความหลากหลายจึงมีการนำเกียร์ออโต 5 สปีดใส่ไว้ในสมาร์ทแค็บ พรีรันเนอร์ 2.5 ด้วยในตอนนั้น
สำหรับรุ่นสมาร์ทแค็บ พรีรันเนอร์ จุดเด่นหลักๆ นอกจากจะได้ใช้เกียร์ออโต 5 สปีด ที่มีรอบต่ำลงแล้ว เรื่องของช่วงล่างที่ยังคงกินใจคนใช้อยู่ ทางโตโยต้าก็ทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น ช่วงล่างหน้าเป็นแบบปีกนกคู่อิสระดับเบิ้ลวิชโบน เป็นช่วงล่างเดียวกับพวกรถลุยทั้งหลาย ถูกปรับแต่งเพื่อให้หน้ายางสัมผัสกับถนนได้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการยึดเกาะ ไม่ว่าจะเป็นทางโค้งหรือสภาพถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ระบบกันสะเทือนหลังเป็นแหนบช้อน ยืดแผ่นแหนบให้ยาวขึ้น เพื่อความนุ่มนวลและยึดตำแหน่งของเพลาหลังไม่อยู่ตรงกึ่งกลางเพื่อให้การซับแรงกระแทกทำได้ดี
จุดด้อยของรถตัวถังสูงๆคือเสียงลมที่สอดแทรกผ่านช่องว่างใต้ท้องรถ ทางโตโยต้าจึงออกแบบแอร์สแปซตรงใต้กันชนหน้า เพื่อบังคับทิศทางลมไม่ให้ปะทะเข้าไปในซุ้มล้อกับหน้ายางมากเกินไป เป็นการลดกระจายลมเมื่อใช้ความเร็วสูงๆ ที่จะทำให้รถลอย ช่วยลดเสียงดังของยางเวลาลมไชชอนเข้าไปตรงร่องดอกยาง ซึ่งจะเกิดความรำคาญ รวมถึงการทำหน้าที่เป็นชุดแอร์โร่ไดนามิกส์ ช่วยให้รถเกาะถนนได้ดีขึ้น แหนบถูกออกแบบให้มีความยาวเหมาะสม ลดการโคลงตัวเมื่อมีการบรรทุกหนักๆ เวลาเข้าโค้งจึงมีการออกแบบให้ลดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง จากการออกแบบความยาวที่เหมาะสมของแหนบ การปรับช่วงล่างดีทีเอสให้สมดุลจึงทำให้การเกาะถนนในโค้งมีความแม่นยำมากขึ้น
การปรับปรุงช่วงล่างครั้งนี้ช่วยให้วีโก้หนึบขึ้นน้องๆช่วงล่างของทีอาร์ดี เป็นช่วงล่างที่นุ่มขึ้นแต่ไม่ถึงกับนิ่ม ซึ่งช่วยให้การคุมรถในโค้งตอนขึ้นลงภูเขามีความแม่นยำดี ช่วงใช้ความเร็วสูงช่วงล่างซับแรงกระแทกได้ดีกว่าวีโก้รุ่นแรกๆเยอะ รถบรรทุกหนักเวลาเข้าโค้งน้ำหนักจะเทไปยังฝั่งตรงข้ามซึ่งก่อเกิดการยกตัว โครงสร้างของแชสซีถูกปรับให้มีความยืดหยุ่น เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับถนนในสภาพต่างๆ รวมถึงการเข้าโค้งที่จะช่วยลดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางซึ่งจะทำให้รถทรงตัวดีขึ้น
นอกจากการปรับในช่วงล่างแล้วเครื่องยนต์ยังถูกปรับด้วย เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล 2.5 ลิตร ทวินแคมที่ใช้เทอร์โบแปรผัน จะมีการปรับในเรื่องระบบส่งกำลังโดยใช้เกียร์ออโต 5 สปีดมาช่วย เพิ่มความสบายและลดการบริโภคน้ำมันให้น้อยลงเมื่อเดินทางไกล เครื่องยนต์จะให้กำลัง 144 แรงม้าที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 343 นิวตัน-เมตรที่ 1,600-2,000 รอบต่อนาที เมื่อใช้เกียร์ออโต 5 สปีดที่มีการปรับช่วงเกียร์เกียร์ให้สั้นลง ทำให้มีการส่งกำลังมีความต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงรอบเครื่องยนต์ก็ลดลง เมื่อก่อนรอบเครื่องยนต์ของรุ่น 2.5 จะเกิน 2,000 รอบต่อนาที แต่ตอนนี้เหลือแค่ 1,800 รอบ/นาที เมื่อใช้ความเร็วคงที่ 100 กม./ชม
อินเตอร์คูลเลอร์ยังคงเป็นการติดตั้งไว้บนเครื่องยนต์ เมื่อปรับสคูปดักลมให้กว้างขึ้นการไหลเข้าของอากาศก็ดีด้วย จึงไม่ควรติดการ์ดดักแมลงบนฝากระโปรงของรถที่มีสคูปดักลมบนฝากระโปรง อินเตอร์คูลเลอร์ขนาดใหญ่บนฝากระโปรงมีครีบภายใน ช่วยให้การระบายความร้อนดีขึ้น ทางฝั่งไอดีจะเป็นพลาสติกเพื่อไม่ให้อากาศถูกลดอุณหภูมิจนเย็นแล้วถูกรบกวนอีก ส่วนฝั่งติดเทอร์โบจะมีการเจาะรูเพื่อลดเสียงด้วย การเดินทางผ่านท่ออินเตอร์คูลเลอร์ที่สั้นจะช่วยรักษาอุณหภูมิของอากาศก่อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้ดีกว่าท่อยาวๆ ซึ่งเป็นผลให้วีโก้มีกำลังที่ถูกเรียกออกมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง บวกกับความไม่จุกจิกของเครื่องยนต์ ช่วยให้ยอดขายยังคงเป้นผู้นำจนถึงตอนนี้