รถซับคอมแพ็คที่เกิดมาในเมืองไทยอย่างโซลูน่าก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่จะเปลี่ยนชื่อเป็นวีออสเท่านั้นเอง หน้าตาที่เคยดูเรียบๆ ขาดเสน่ห์ ถูกปรับปรุงให้ดูโฉบเฉี่ยวล้ำสมัย ถือเป็นการปฏิวัติการออกแบบของค่ายโตโยต้าสำหรับรถยนต์ที่ขายในเมืองไทยเลยทีเดียว
การออกแบบภายนอกทำได้ดีจึงได้รถที่เพรียวลม ช่องรับลมตรงกระจังหน้าก็เปลี่ยนไป อาศัยลมส่วนใหญ่วิ่งผ่านช่องรับลมตรงด้านล่างกันชนแทน สำหรับไประบายความร้อนให้กับรังผึ้งแอร์และหม้อน้ำ กระจังหน้าพร้อมแถบโครเมี่ยมรมดำ ออกแบบกันชนหน้าสไตล์รถสปอร์ต เป็นกันชนขนาดใหญ่ใช้ช่องรับลมเปิดกว้างทางด้านล่าง โดยใช้สีดำที่ทำให้รวมกันเป็นชุดเดียว
กระจกมองข้างก็เพรียวลม สังเกตดีๆตรงช่องว่างระหว่างกระจกมองข้างและตัวถังรถมักจะเกิดเสียงดังเวลารถวิ่งเร็วๆ ในวีออสใหม่จึงมีตุ่มเล็กๆ ที่ออกแบบมาเพื่อลดเสียงดังในจุดนี้เป็นอย่างดี ซึ่งทางโตโยต้าเรียกว่าฟิน เป็นตัวช่วยลดแรงปะทะของลม
นอกจากนั้น หลังคายังถูกออกแบบเป็นสันนูนขึ้นมาเช่นกัน เป็นการทำออกมาเพื่อช่วยลดแรงปะทะของลม เป็นหลังคาแบบ คาตามาราน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงได้อีกจุดหนึ่ง
กลับเข้าสู่โลกของความเป็นจริง สำหรับแผงหน้าปัดที่เคยลองไปติดไว้ตรงกลางแผงคอนโซลในวีออสทั้งสองรุ่นที่ผ่านมา บอกได้ว่าไม่เวอร์กนัก เวลาจะดูค่อนข้างง ลำบากเมื่อต้องหันหน้าไปมอง ไม่เหมือนกับที่อยู่ตรงหลังพวงมาลัยแค่เหลือบตามองก็เห็นได้ชัดเจน
เหนือชั้นกับการออกแบบลูกเล่นแผงคอนโซล แรกเห็นยังโดนหลอกว่าวีออสใช้หนังแท้มาตัดเย็บทำแผงคอนโซลแบบรถหรูราคาแพง แต่จริงๆ แล้วเป็นการออกแบบที่ยังคงใช้พลาสติกฉีดขึ้นรูปแบบเดิม ตะเข็บพร้อมลายเส้นด้ายดูเหมือนของจริงลวดลายที่ปรากฏออกมาก็ดูเหมือนกับหนังแท้ เป็นแผงคอนโซลขนาดใหญ่แต่ลาดลง ให้ไม่บดบังการมองเห็น สวยโดนใจในจุดนี้
จะมีบ้างในข้อเสียเล็กๆ ก็คือการออกแบบแผงหน้าปัดใช้สีโทนขรึม เวลาเจอแดดส่องเข้ามาทางด้านหน้า สะท้อนเป็นเงาอยู่บนแผงหน้าปัด ทำให้มองตัวเลขได้ไม่ชัดเจน ถ้าเปลี่ยนเป็นพื้นขาวคงจะดูดีกว่านี้ เมื่อแผงคอนโซลลาดลง การอออกแบบชุดเครื่องเสียง แบบ 2 ดิน จึงแปลกตาออกไป จากการยกตัวขึ้นมา ทำให้ชุดเครื่องเสียงดูลอยออกมาจากแผงคอนโซล การใช้งานง่าย แต่ดูมีมิติมากขึ้น
เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เดิม ปรับจูนกล่องใหม่ มีกำลัง 109 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีดการเลือกเกียร์ธรรมดามาใช้จะดูเหมาะสมมากกว่า คลัตช์ก็ไม่ได้หนักเท้า การใช้งานยาวนาน ดูแลรักษาต่ำกว่าเกียร์ออโตเยอะ อัตราเร่งทำได้ดี ความเร็วไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ รอบเครื่องยนต์สูงไปหน่อย ที่ 3,000 รอบ/นาที ได้ 108 กม./ชม. เท่านั้นเอง 100 กม./ชม. อยู่ที่ 2,800 รอบ/นาที หากได้สัก 2,500 รอบ คงจะประหยัดน้ำมันมากกว่านี้