ยางรถยนต์ทุกเกรด และคุณภาพ ล้วนแล้วแต่มีวันที่จะเก่าและเสื่อมลงตามกาลเวลา เพราะการวิ่งบนถนนหลากหลายรูปแบบ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการใช้งาน ส่งผลต่อเนื้อยาง หน้ายาง และดอกยาง ผลกระทบเหล่านั้นสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
- รอยรั่ว รอยบาก หรือเศษของมีคมบนยาง – ไม่ควรปล่อยให้รถวิ่งบนยางที่มีตำหนิหรือเศษสิ่งแปลกปลอมติดบนยาง เพราะอาจเป็นเหตุให้ยางแตก รั่ว และเกิดอันตรายได้ กรณีที่ยางจำเป็นต้องปะซ่อม ขอแนะนำให้ใช้วิธีการซ่อมแบบดอกเห็ดเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการปะยางแบบแทงใยไหมหรือสตีมโดยเด็ดขาด เพราะทำให้ยางเกิดความเสียหาย
- ระยะทางในการเบรกยาวขึ้นกว่าปกติ – การใช้งานยางเมื่อผ่านไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ดอกยางจะตื้นลง จึงควรเปลี่ยนยางทันทีเมื่อความลึกดอกยางน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร เพราะจะส่งผลต่อระยะเบรกที่ยาวขึ้นโดยเฉพาะเมื่อขับขี่บนถนนเปียก
- ควบคุมรถบนถนนที่ลื่นได้ยากขึ้น – ความลึกของดอกยางจะลดต่ำลงตามระยะทางขับขี่ที่ใช้งานไป และจะส่งผลต่อการยึดเกาะถนนของรถเมื่อขับรถบนถนนที่ลื่นหรือที่เรียกว่าอาการเหิรน้ำ ซึ่งทำให้รถเสียการทรงตัวระหว่างการขับขี่ โดยเฉพาะเมื่อความลึกดอกยางน้อยกว่า 3 มม.
- ดอกยางสึกไม่สม่ำเสมอกัน – การสึกหรอไม่เท่ากันของดอกยาง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเติมลมยางที่ไม่ถูกต้อง หรือปัจจัยอื่น สังเกตได้จากจุดต่อไปนี้
- ขอบด้านนอกหรือขอบด้านในสึกมากกว่า (Toe wear) – เกิดจากการตั้งศูนย์ล้อ มุมบังคับเลี้ยว (มุม Toe) ไม่สมดุล
- หน้ายางด้านในหรือด้านนอกสึกมากกว่า (Camber wear) – เกิดจากการตั้งศูนย์ล้อแนวตั้ง (มุม Camber) ไม่ถูกต้อง
- ส่วนกลางของหน้ายางสึกหรอเป็นพิเศษ (Center Wear) –เกิดได้จากแรงดันลมยางที่มากเกินไป
- ส่วนขอบของหน้ายางทั้งด้านในและด้านนอกสึกหรอเป็นพิเศษ (Edge Wear) – บริเวณขอบทั้งสองด้านสึกมากเป็นพิเศษ เกิดจากแรงดันลมยางน้อยเกินไป
ขอแนะนำให้เติมลมยางให้ได้ตามมาตรฐานของรถแต่ละรุ่น ซึ่งสามารถดูค่าความดันลมยางมาตรฐานได้จากคู่มือผู้ใช้รถหรือป้ายแนะนำความดันลมยาง ซึ่งมักจะติดอยู่บริเวณเสากลางตัวรถด้านใน
- อายุการใช้งาน – หากยางรถยนต์มีอายุการใช้งานครบ 6 ปี นับจากวันผลิต หรือมีความลึกดอกยางน้อยกว่า 3 มม. หรือใช้งานมาประมาณ 50,000 กิโลเมตร ควิกเลนแนะนำให้เปลี่ยนยางโดยทันที รวมถึงยางอะไหล่ที่ควรตรวจสอบและเปลี่ยนทันทีโดยไม่ต้องคำนึงถึงการสึกของดอกยางแต่อย่างใด