มาสด้าวางยุทธศาสตร์รับปีมังกรทอง สร้างรากฐานให้มั่นคง ปั้นแบรนด์ให้แข็งแกร่ง พัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เต็มรูปแบบ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกไลฟ์สไตล์ ยกระดับการบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของแบรนด์มาสด้าในประเทศไทย พร้อมเอาใจใส่ดูแลลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นด้วยกลยุทธ์ Customer Experience Management (CXM) สร้างประสบการณ์ลูกค้าและมอบสิทธิประโยชน์ ดูแลลูกค้าหลังการขายแบบไร้ข้อกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ควบคู่กับบริหารคุณค่าแบรนด์ให้ยั่งยืนด้วย Brand Value Management (BVM) ตามปณิธานในการยกระดับและเติมพลังให้กับผู้คนผ่านประสบการณ์การขับขี่ที่เหนือระดับ เล็งเป้าปีนี้เติบโตทั้งยอดขายและการเพิ่มฐานลูกค้าที่เข้ารับบริการที่ศูนย์ฯ มาสด้าทั่วประเทศ มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับมาสด้าทั่วโลก
มร. ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา มาสด้ามียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 16,544 คัน แบ่งออกเป็น รถยนต์นั่งจำนวน 8,718 คัน ประกอบด้วย มาสด้า2 จำนวน 7,834 คัน และมาสด้า3 จำนวน 884 คัน รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวี จำนวน 6,981 แบ่งออกเป็น มาสด้า CX-30 จำนวน 3,254 คัน, มาสด้า CX-3 จำนวน 2,389 คัน, มาสด้า CX-8 จำนวน 999 คัน และมาสด้า CX-5 จำนวน 340 คัน รถปิกอัพ มาสด้า บีที-50 จำนวน 834 คัน และรถสปอร์ตเปิดประทุน มาสด้า MX-5 จำนวน 10 คัน ส่วนรถยนต์นั่งสุดหรู มาสด้า6 รุ่นพิเศษ ฉลองครบรอบ 20 ปี ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากมีลูกค้าจองสิทธิ์เข้ามาแล้วกว่า 74 คัน จากจำนวนทั้งหมด 100 คัน
“แม้ว่ายอดขายมาสด้าจะปรับตัวลดลง แต่ในปีที่ผ่านมา มาสด้ายังประสบความสำเร็จในด้านการบริการหลังการขาย อันเป็นผลพวงจากการดำเนินธุรกิจภายใต้ Retention Business Model โดยมีลูกค้ากลับเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง และทำให้ผู้จำหน่ายมีผลกำไรแม้จะอยู่ในสถาวะตลาดชะลอตัว ไม่เพียงเท่านี้ มาสด้ายังสามารถรักษาสัดส่วนการจำหน่ายอะไหล่ไว้ได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดเก็บสต็อกอะไหล่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมกับปริมาณลูกค้าที่จะเข้ามารับบริการและรองรับต่อความต้องการในอนาคต จึงสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ด้วยบริการที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้แบรนด์มาสด้าในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความสำเร็จจากแผนการดำเนินงานภายใต้โมเดลธุรกิจดังกล่าวได้เป็นอย่างดี”
“โดยภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคักอย่างชัดเจน กำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มาสด้าเชื่อว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ท้ายทายยิ่งขึ้น การแข่งขันของตลาดรถยนต์ในประเทศจะทวีความร้อนแรง การเข้ามาลงทุนจากนักธุรกิจต่างประเทศ ผลักดันให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นจากการปรับอัตราค่าแรง คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 750,000 – 800,000 คัน หรือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ในส่วนของมาสด้าคาดว่าจะเติบโตเช่นเดียวกัน เนื่องจากฐานลูกค้าที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มโอกาสในการขายรถใหม่มากขึ้น”
ในปีนี้ มาสด้ายังได้ขยายกรอบตามกลยุทธ์ภายใต้ Retention Business Model ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการบริการลูกค้าในทุกมิติ ในรูปแบบ One Stop Service ตั้งแต่ด้านการขาย การบริการหลังการขาย การกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้า การเทรดอิน รวมถึงงานซ่อมตัวถังและสี โดยเฉพาะการขายรถใหม่ผ่านผู้จำหน่ายมาสด้าทั่วประเทศและช่องทางออนไลน์ การขายรถมาสด้ามือสองคุณภาพเหนือระดับ ภายใต้โครงการ Mazda CPO ที่พัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับมูลค่ารถยนต์ให้กับลูกค้า และเพิ่มความสะดวกในการนำรถเข้ามาเทรดอิน โดยในปีนี้จะเน้นพัฒนาการขายผ่านช่องทางออนไลน์ Mazda CPO Marketplace มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าและตอบรับกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ยกระดับบริการหลังการขายด้วยการขยายศูนย์ซ่อมตัวถังและสี (Certified Body & Paint) ลดระยะเวลาในการรออะไหล่ และมอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าด้วย Privilege Program ที่พิเศษมากกว่าเดิม เพื่อตอบสนองการให้บริการลูกค้าอย่างครบครัน