จากกรณีที่บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ออกมาชี้แจงถึงความไม่เหมาะสมในการเตรียมการทดสอบมาตรฐานการชนด้านข้าง UN-R95 ของรถยาริส เอทีฟ ที่ผลิตในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา มร. อากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) ได้เดินทางมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกและข้อกังวลใจ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าชาวไทย ผู้แทนจำหน่ายฯ พนักงาน หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเนื่องในโอกาสเดียวกันนี้ มร.อากิโอะ โตโยดะ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทโตโยต้า ได้ยืนยันความมั่นใจในคุณภาพของรถยนต์โตโยต้า โดยกล่าวว่าเหตุผลที่ตนเดินทางมายังประเทศไทยในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการตอกย้ำความเชื่อมั่นของลูกค้าชาวไทยว่า “ยาริส เอทีฟ” เป็นรถที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศไทยทุกประการ อีกทั้งยังยืนยันว่าลูกค้าและผู้ที่ครอบครองยังคงสามารถใช้งานรถรุ่นนี้ต่อไปได้อย่างสบายใจไร้ข้อกังวล
มร. โตโยดะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โตโยต้ามี กระบวนการในการปฏิบัติก่อนส่งรถให้กับลูกค้า นั่นคือ การพัฒนา การรับรอง การผลิต และการจำหน่าย ทั้งนี้เราขอยืนยันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของรถยนต์ระหว่างกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการรับรอง ซึ่งมีการตรวจพบถึงความไม่เหมาะสมในการเตรียมการทดสอบมาตรฐานการชนด้านข้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงมีการเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”และเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบของประเทศไทย โตโยต้าจึงระงับการส่งมอบและการจำหน่ายรถยนต์รุ่นดังกล่าวชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดยขณะนี้กำลังประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการกลับมาจำหน่ายและส่งมอบรถรุ่นนี้ในลำดับต่อไป
หลังจากที่ตรวจพบความไม่เหมาะสมในการเตรียมการทดสอบมาตรฐานการชนด้านข้าง ทางบริษัทไดฮัทสุ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาตัวถังและในการขอการรับรอง ได้ดำเนินการทดสอบการชนด้านข้าง ด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในรถรุ่นยาริส เอทีฟ เป็นการภายใน และขอยืนยันว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95 ทั้งหมด ไดฮัทสุ ได้ทำการปรึกษาหน่วยงานภายนอกที่ทำการตรวจสอบและออกหนังสือรับรอง หรือ Vincotteมีการลงความเห็นว่า สำหรับรถรุ่นปัจจุบัน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขใดๆ ซึ่งทางบริษัทขอยืนยันว่ารถมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสอดคล้องกับข้อบังคับที่กำหนดไว้ และลูกค้าสามารถใช้งานรถของท่านต่อไปได้ตามปกตินอกจากนั้น ทางบริษัทได้ดำเนินการทดสอบอีกครั้ง โดยใช้รถที่ผลิตและจำหน่ายจริงในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 โดยมีหน่วยงานภายนอกที่มีอำนาจรับรองมาตรฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของประเทศเบลเยี่ยมเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการทดสอบ และได้รับการอนุมัติว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95 โดยไม่เป็นการเพิกถอนหรือยกเลิกหนังสือรับรองเดิมในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566, บริษัทฯได้รับใบขยายผลการรับรอง UN-R95 (โดยไม่เป็นการยกเลิกผลการรับรองเดิม) และขณะนี้ ทางบริษัทประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ เพื่อดำเนินการจำหน่ายและส่งมอบรถรุ่นนี้ในลำดับต่อไปทั้งนี้ โตโยต้าให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องที่เกิดขึ้น เราพยายามที่จะทบทวนกระบวนการและดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน