เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ศาสตราจารย์ เอริก ดี. กรีน เจ้าหน้าที่พิเศษและทรัสตี ได้เปิดโครงการชดเชยค่าเสียหายสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยมิชอบ อันเนื่องมาจากการพองตัวอย่างรุนแรงหรือการแตกของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะที่ใช้แอมโมเนียมไนเตรตในการพองตัว (“ความบกพร่องของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ”) โดยผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทุน Individual Restitution Fund (“IRF”) มูลค่า 125 ล้านดอลลาร์ของกระทรวงยุติธรรม และ/หรือ กองทุนทรัสต์ Takata Airbag Tort Compensation Trust Fund (“TATCTF”) มูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ โดยกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ และผู้เสียหายยังคงมีเวลาดำเนินการ
ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยมิชอบอันเนื่องมาจากความบกพร่องของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ สามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายได้สามประเภท ได้แก่ (i) “IRF Claim” เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทุน IRF ซึ่งเป็นกองทุนชดเชยค่าสินไหมทดแทนสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยมิชอบ กองทุนนี้กำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่พิเศษ และจัดตั้งขึ้นภายใต้คำสั่ง Restitution Order ของศาลแขวงสหรัฐอเมริกาสำหรับเขตตะวันออกของรัฐมิชิแกน สืบเนื่องจากการดำเนินคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมต่อบริษัททาคาตะ และประเทศสหรัฐอเมริกาต่อบริษัททาคาตะ คอร์ปอเรชั่น คดีหมายเลข 16-cr-20810 (E.D. Mich.), (ii) “Trust Claim” เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทุนทรัสต์ TATCTF ซึ่งเป็นกองทุนชดเชยค่าเสียหายสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยมิชอบ กองทุนนี้กำกับดูแลโดยทรัสตี และจัดตั้งขึ้นตามแผนฟื้นฟูกิจการมาตรา 11 ของทาคาตะ ภายใต้คำสั่งของศาลล้มละลายเขตเดลาแวร์ และ (iii) “POEM Claim” เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายจาก Participating Original Equipment Manufacturer หรือ POEM (ปัจจุบันมี POEM รายเดียวคือ Honda/Acura) โดยต้องดำเนินการผ่านกองทุน TATCTF ที่กำกับดูแลโดยทรัสตี
การเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละประเภทมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นคำร้องแตกต่างกันไป และการเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละประเภทครอบคลุมเฉพาะการบาดเจ็บทางร่างกายและการเสียชีวิตโดยมิชอบอันเนื่องมาจากความบกพร่องของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ โดยไม่ครอบคลุมการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยมิชอบอันเนื่องมาจากส่วนประกอบอื่น ๆ ของถุงลมนิรภัย เช่น ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยพองตัวเอง การบาดเจ็บจากการชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวสูบลม หรือความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทางร่างกายหรือการเสียชีวิต สามารถขอรับแบบฟอร์มการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีการยื่นคำร้องได้ที่เว็บไซต์ของ IRF: www.takataspecialmaster.com หรือเว็บไซต์ของ TATCTF: www.TakataAirbagInjuryTrust.com