สำหรับปอร์เช่ (Porsche) นวัตกรรมและการแข่งขันรถยนต์เป็นของคู่กัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การพัฒนาเทคโนโลยีเทอร์โบ ในปี 1974 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว 911 เทอร์โบ (911 Turbo) รถยนต์เทอร์โบชาร์จรุ่นแรกของปอร์เช่ ได้เปิดตัวต่อชาวโลกเป็นครั้งแรก ด้วยพละกำลัง 260 แรงม้า ซึ่งถือว่าเป็นพละกำลังที่มหาศาลสำหรับยุคนั้น หัวใจสำคัญของเครื่องยนต์อันล้ำสมัยนี้มาจากสนามแข่ง เทคโนโลยีซูเปอร์ชาร์จเจอร์ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปอร์เช่ 917/10 ปัจจุบัน พละกำลังระบบของปอร์เช่ 911 รุ่นล่าสุด มีพละกำลังสูงถึง 398 กิโลวัตต์ (541 แรงม้า) 911 คาร์เรร่า จีทีเอส (911 Carrera GTS) ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบ แต่เป็นการผสมผสานเข้ากับระบบ T-hybrid เป็นครั้งแรก การพัฒนานี้ได้ประโยชน์จากความรู้ที่ปอร์เช่สั่งสมมาในวงการมอเตอร์สปอร์ต ตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2017 ที่รถยนต์ 919 ไฮบริด (919 Hybrid) สุดล้ำสมัย ได้รับรางวัลชนะเลิศจากรายการแข่งขันเลอมังส์ 24 ชั่วโมง (24 Hours of Le Mans) ถึง 3 ครั้งและกวาดตำแหน่งแชมป์ในรายการ FIA World Endurance Championship (WEC) ปัจจุบัน ปอร์เช่ตั้งเป้าคว้าชัยชนะครั้งที่ 20 ในการแข่งขันรถยนต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ด้วยรถต้นแบบไฮบริด 963 ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ปอร์เช่ได้นำเอาความรู้จากสนามแข่งมาพัฒนารถยนต์บนท้องถนน
ในฤดูร้อนปี 1970 ปอร์เช่ (Porsche) คว้าแชมป์รายการ เลอมังส์ 24 ชั่วโมง (24 Hours of Le Mans) เป็นครั้งแรกด้วยรถ 917 KH ตามมาด้วยชัยชนะในซีรีส์ แคนแอม (CanAm) อเมริกาเหนือ แต่ด้วยเครื่องยนต์ขนาด 12 สูบ 4.5 ลิตร พละกำลัง 580 แรงม้า มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับคู่แข่งซึ่งเป็นรถยนต์สัญชาติอเมริกันที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่ามาก เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ต้องการ ปอร์เช่จึงวางแผนที่จะพัฒนาเครื่องยนต์ 16 สูบ พร้อมกับการใช้เทอร์โบชาร์จเจอร์ (turbocharger) จากท่อไอเสีย ในการแข่งขัน CanAm ด้วยเส้นทางที่มีลักษณะคดเคี้ยว จำเป็นต้องการเทอร์โบชาร์จเจอร์รอบสูงเพื่อลดอาการของ Turbo Lag ให้เหลือน้อยที่สุด วิธีแก้ปัญหานี้คือ ระบบควบคุมแรงดันบูสต์ฝั่งไอเสีย ที่ช่วยป้องกันแรงดันส่วนเกินที่ไม่ต้องการในช่วงกำลังต่ำหรือการทำงานแบบ overrun โดยการปล่อยไอเสียส่วนเกินออกผ่านวาล์วบายพาส (bypass relief valve) และเวสต์เกต (wastegate) สิ่งนี้ช่วยจำกัดแรงดันบูสต์ให้อยู่ในระดับคงที่ นอกจากนี้ยังช่วยให้ใช้เทอร์โบชาร์จเจอร์ (turbocharger) มีขนาดเล็กลง ลดมวลหมุน และตอบสนองดีขึ้น
ปลายเดือนกรกฎาคม ปี 1971 รถเปิดประทุน 917/10 Spyder พร้อมเครื่องยนต์ซูเปอร์ชาร์จสามารถเข้าเส้นชัยในสนาม Weissach เป็นครั้งแรก ซึ่งปอร์เช่เลือกใช้เทอร์โบที่มีขนาดเล็ก 2 กระบอก แทนที่จะใช้เทอร์โบชาร์จเจอร์ขนาดใหญ่ สิ่งนี้ทำให้เครื่องยนต์ตอบสนองได้อย่างยอดเยี่ยมและสร้างพละกำลังมากถึง 850 แรงม้า ความสำเร็จในรายการแข่งขัน CanAm ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ในปี 1972 ทีมพันธมิตรของ Porsche อย่าง Penske Enterprises ชนะการแข่งขัน 6 รายการจากทั้งหมด 9 รายการ รวมถึงการคว้าแชมป์ CanAm Cup และต้องขอบคุณ จอร์จ ฟอลเมอร์ (George Follmer) สำหรับการคว้าแชมป์นักขับด้วย อีกทั้งในปี 1973 ปอร์เช่ได้พัฒนารถแข่ง 917/30 Spyder ขนาด 5.4 ลิตร ที่มีพละกำลังสูงถึง 1,100 แรงม้า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า มีเพียงกฎกติกาการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะสามารถหยุดยั้งชัยชนะของปอร์เชได้ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเทอร์โบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬามอเตอร์สปอร์ต
หลังจากการแข่งขัน CanAm ปอร์เช่ยังคงใช้เทอร์โบในรถแข่งรุ่น 911 และรถต้นแบบ รถแข่งคันแรกที่ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบในการแข่งขันเลอมังส์ เมื่อปี 1974 ณ คือ 911 คาร์เรรา อาร์เอสอาร์ เทอร์โบ 2.1 (911 Carrera RSR Turbo 2.1) ได้ส่งเสียงกระหึ่มในรอบฝึกซ้อม ด้วยเครื่องยนต์ 6 สูบแบน ขนาด 2.1 ลิตร พละกำลัง 368 กิโลวัตต์ (500 แรงม้า) มีระบบอินเตอร์คูลลิ่ง หรือการระบายความร้อนระหว่างเทอร์โบไปยังห้องเผาไหม้จึงทำให้มีออกซิเจนมาก ทำให้สามารถคว้าอันดับที่ 2 ในการแข่งขัน เลอมังส์ 24 ชั่วโมง และเราได้นำเทคโนโลยีนี้ ไปสู่รถสายการผลิต โดยระบบอินเตอร์คูลเลอร์ถูกนำไปใช้ใน 911 Turbo ตั้งแต่ปี 1977 สิ่งนี้ช่วยเพิ่มกำลังของรถซีรีส์นี้เป็น 300 แรงม้า
เครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จ 2.1 ลิตร ช่วยให้คว้าชัยใน 2 นัดแรกที่เลอมังส์ ได้แก่ปี 1976 รถเปิดประทุน 936/76 สไปเดอร์ (Spyder) ผลิตพละกำลังได้ 382 กิโลวัตต์ (520 แรงม้า) และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในอีก 1 ปีต่อมา รถยนต์น้ำหนักเบา 700 กิโลกรัม ที่ใช้ระบบชาร์จ 2 ตัว และมีพละกำลัง 397 กิโลวัตต์ (540 แรงม้า) คว้าชัยชนะอีกครั้ง แต่ในปี 1978 และ 1979 ปอร์เช่ประสบปัญหาทางเทคนิค ทำให้พลาดชัยชนะติดต่อกัน อย่างไรก็ตามปอร์เช่ไม่ย่อท้อและทะเยอทะยานพัฒนาเครื่องยนต์ต่อไป โดยในปี 1981 รถ 936 สไปเดอร์ (Spyder) ที่มีพละกำลังถึง 456 กิโลวัตต์ (620 แรงม้า) ได้เข้าแข่งขันที่เลอมังส์ (Le Mans) อีกครั้ง และคว้าชัยชนะครั้งที่ 3 ในระหว่างนั้น เมื่อปี 1979 Kremer Racing ก็สามารถคว้าชัยชนะครั้งแรกที่เลอมังส์ (Le Mans) ด้วยรถแข่ง 911 เทอร์โบ (911 Turbo) รุ่น 935 ชัยชนะครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการแข่งขันของทีมลูกค้า ที่อยู่บนรากฐานของความมุ่งมั่นในการแข่งรถของปอร์เช่ รุ่น 935/78 ได้รับพัฒนาจนเสร็จสิ้นในปี 1978 “Moby Dick” และถูกนำมาใช้โดยทีมงานภายในเท่านั้น เครื่องยนต์เทอร์โบคู่ขนาด 3.2 ลิตรเป็นเครื่องยนต์แรกที่มีฝาสูบหลายวาล์วระบายความร้อนด้วยน้ำและให้กำลังสูงสุด 621 กิโลวัตต์ (845 แรงม้า)
รถต้นแบบของรถแข่ง ปอร์เช่ (Porsche) 956 และ 962 C คว้าแชมป์รายการเลอมังส์ 24 ชั่วโมง (24 Hours of Le Mans) ได้ถึง 7 ครั้งระหว่างปี 1982 ถึง 1994 ความสำเร็จครั้งนี้ไม่เพียงสร้างตำนาน แต่ยังบุกเบิกการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์และนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดมายังรถปอร์เช่ในปัจจุบัน พื้นที่ใต้ท้องรถมีรูปทรงพิเศษช่วยให้เข้าโค้งได้ด้วยความเร็ว ให้ความมั่นคงบนทางตรงและเบรกได้อย่างเฉียบคมในระยะที่สั้นลง เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ ล้วนเป็นบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของปอร์เช่ในการพัฒนารถยนต์ที่เหนือชั้น การพัฒนาระบบควบคุมเครื่องยนต์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Motronic จาก Bosch ยังช่วยให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น ภายใต้ข้อกำหนดการใช้พลังงานที่ถูกกำหนดไว้ในกฎระเบียบกลุ่ม C ในสมัยนั้น อีกหนึ่งนวัตกรรมล้ำหน้าคือ ระบบเกียร์คลัตช์คู่ PDK ของปอร์เช่ แผนกแข่งรถได้ทดลองใช้ระบบนี้ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 1984 ซึ่งช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ได้อย่างรวดเร็ว ไร้รอยต่อ ซึ่งมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมตั้งแต่ปี 1987 ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถสปอร์ตรายนี้ส่งมอบรถยนต์ที่ใช้ระบบเกียร์ PDK เป็นส่วนใหญ่ แทนการใช้เกียร์ธรรมดา เทคโนโลยี PDK ยังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในรถยนต์กลุ่มโฟล์คสวาเกนและผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ ภายใต้ชื่อ DSG
เครื่องยนต์ 6 สูบ เทอร์โบคู่ (biturbo) ขนาด 3.0 ลิตรของ 962 C ยังถูกนำไปใช้ใน TWR Porsche WSC Spyder แบบเปิดประทุน ซึ่งทีม Joest Racing ได้คว้าชัยชนะที่เลอมังส์ (Le Mans) ในปี 1996 และ 1997 ขณะเดียวกันทีมงานก็ให้ความเชื่อมั่นในปอร์เช่ 911 จีที1 (Porsche 911 GT1) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 6 สูบ เทอร์โบคู่ขนาด 3.2 ลิตรให้กำลัง 441 กิโลวัตต์ (600 แรงม้า) แสดงถึงพัฒนาการทางเทคนิคที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตจริง ในปี 1997 รุ่น 996 เจนเนอเรชั่น 911 ใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำทั้งหมด และในปี 1998 รถปอร์เช่ 911 จีที 1 (911 GT1-98) คว้าชัยชนะตำแหน่งที่ 1 และ 2 ในเลอมังส์
ปอร์เช่ 919 ไฮบริด (919 Hybrid) คือสิ่งเน้นย้ำถึงการที่ปอร์เช่ใช้มอเตอร์สปอร์ตเป็นแพลตฟอร์มพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง รถที่ชนะการแข่งขันเลอมังส์ (Le Mans) ในปี 2015, 2016 และ 2017 ยังคงเป็นรถแข่งที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่ผู้ผลิตรถสปอร์ตเคยสร้างมา เครื่องยนต์ V4 ขนาดกะทัดรัด ประสิทธิภาพสูงพร้อมระบบฉีดเชื้อเพลิงที่ปอร์เช่พัฒนาขึ้น ถือเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ผลิตพละกำลังประมาณ 368 กิโลวัตต์ (500 แรงม้า) โดยมีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพลาหน้าด้วยกำลังประมาณ 294 กิโลวัตต์ (400 แรงม้า)
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสามารถชาร์จพลังงานได้บางส่วนผ่านการเบรก และอีกส่วนหนึ่งผ่านเทคโนโลยีที่ปอร์เช่ใช้เป็นเจ้าเดียวในรายการแข่งขัน World Endurance Championship นั่นคือ เทอร์โบชาร์จเจอร์ตัวที่สองที่มีรูปทรงกังหัน ท่อไอเสียทำหน้าที่ปั่นไฟฟ้า นวัตกรรมใหม่อีกอย่างหนึ่งคือระบบไฟฟ้า 800 โวลต์ที่ปอร์เช่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับรุ่น 919 ไฮบริด (919 Hybrid) สิ่งนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปอร์เช่ ไทคานน์ (Porsche Taycan) ที่เปิดตัวเมื่อปี 2019 และเป็นหนึ่งในคุณสมบัติทางเทคนิคที่สำคัญของรถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้าล้วนคันแรกของปอร์เช่ ติโม เบิร์นฮาร์ด (Timo Bernhard) นักขับมากฝีมือ ผู้ชนะเลอมังส์ 2 สมัย และแบรนด์แอมบาสเดอร์ของปอร์เช่ สร้างตำนานบทใหม่ด้วยการขับ 919 ไฮบริด (919 Hybrid) เวอร์ชั่น Evo พิชิตสนาม Nürburgring Nordschleife ด้วยเวลาอันน่าทึ่งเพียง 5:19.55 นาที วิดีโอการขับขี่สุดเร้าใจนี้กลายเป็นไวรัล มีผู้ชมมากกว่า 9 ล้านครั้ง บน YouTube
ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา ปอร์เช่ได้นำเสนอรถยนต์ไฮบริดอีกครั้งในการแข่งขันระดับสูงสุดของ FIA World Endurance Championship WEC และซีรีส์รถสปอร์ต American IMSA การพัฒนา 963 เริ่มขึ้นในปี 2020 โดยผสมผสานเครื่องยนต์ V8 ขนาด 4.6 ลิตรที่มีต้นกำเนิดมาจากปอร์เช่ อาร์เอส สไปเดอร์ (Porsche RS Spyder) และซูเปอร์สปอร์ตคาร์ 918 สไปเดอร์ (918 Spyder) เข้ากับเทอร์โบชาร์จเจอร์ขนาดเล็ก 2 ตัวและระบบไฮบริด ภายใต้กฎระเบียบของ LMDh รถคันนี้มีพละกำลังรวมประมาณ 515 กิโลวัตต์ (700 แรงม้า)เป้าหมายของ 963 คือการคว้าชัยในการแข่งขัน Le Mans ครั้งที่ 20 ให้กับปอร์เช่ และแสดงศักยภาพของรถสปอร์ต 50 ปีหลังจากการเปิดตัว 911 เทอร์โบ (911 Turbo) ครั้งแรกในโลก ณ กรุงปารีส นี่ถือเป็นชัยชนะครั้งที่ 18 สำหรับรถแข่งปอร์เช่ที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จ