Deloitte Global Automotive Consumer Study ได้ออกรายงานผลการสำรวจระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2553 และ เริ่มออกรายงานของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 จากรายงาน Global Automotive Consumer Study 2023 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงเป็นทางเลือกหลักของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ร้อยละ 31 ของคนไทยที่ร่วมตอบแบบสอบถาม คิดว่าจะเลือกรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle – BEV) เป็นพาหนะคันต่อไป นับเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดีอัตราการเติบโตของความต้องการ BEV สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งภูมิภาคเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปีก่อนหน้า เหตุผลสำคัญที่สุดของคนไทยและภูมิภาคคือต้องการลดรายจ่ายด้านราคาเชื้อเพลิง สำหรับคนไทยให้เหตุผลรองลงมาในการตัดสินใจเลือก BEV เพราะต้องการประสบการณ์ในการขับขี่ที่ดีกว่า และการมีรถที่สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองยามฉุกเฉินได้
สำหรับผู้ที่เลือกจะใช้ BEV เป็นคันต่อไป ความกังวลเกี่ยวกับสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะเป็นอันดับสูงสุดของคนไทยและภูมิภาคที่ร้อยละ 48 และ ร้อยละ 54 ตามลำดับ รองลงมาคือเวลาในการชาร์จ และราคาของรถ BEV ที่จะแพงกว่ารถในระดับเดียวกัน ทั่วทั้งภูมิภาคระบุตรงกันว่าต้องการชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านมากที่สุด แต่ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะ คนไทยถึงร้อยละ 51 ต้องการสถานีชาร์จไฟฟ้าที่สร้างเฉพาะสำหรับรถ EV รองลงมาคือการปรับปรุงสถานบริการน้ำมันเดิมให้สามารถรองรับการชาร์จรถไฟฟ้าได้ ที่ร้อยละ 26
โดยคนไทยรับได้กับการรอชาร์จไฟรถระหว่าง 10-60 นาทีถึงร้อยละ 64 และ ผู้เข้ารวมการตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 41 คาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ในระยะทาง 300-500 กิโลเมตรต่อการชาร์จ โดยแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางหลักที่คนไทยต้องการใช้ในการชำระค่าชาร์จไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาคถึงร้อยละ 67 เทียบกับภูมิภาคที่ร้อยละ 51
คนไทยสูงถึงร้อยละ 91 ระบุว่าต้องการรถมือหนึ่งเป็นรถคันต่อไป โดยจะตัดสินใจเลือกซื้อรถคันต่อไปจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 64 คุณสมบัติของรถ (Features) ร้อยละ 49 และภาพลักษณ์ของแบรนด์ ร้อยละ 37
ดีลเลอร์ยังคงเป็นทางเลือกที่กลุ่มตัวอย่างลูกค้าคนไทยให้ความไว้วางใจมากที่สุด โดยเฉพาะกับรถมือหนึ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 85 บอกว่าจะเลือกใช้บริการบำรุงรักษารถจากศูนย์บริการมาตรฐาน สำหรับรถมือสอง ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 45 เลือกใช้บริการศูนย์บริการหลังการขาย ซึ่งตอบโจทย์ด้านราคา และความสะดวกสบาย
กลุ่มตัวอย่างลูกค้าคนไทยเปิดใจที่จะอนุญาตให้รถเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลมากที่สุดในภูมิภาค เกือบครึ่งระบุว่าไม่กังวลกับการให้ข้อมูลของรถ โดยคาดหวังประโยชน์ด้านการบำรุงรักษา ร้อยละ 85 การประเมินราคาซ่อมบำรุงจากนิสัยการขับขี่ร้อยละ 84 และ การแนะนำเส้นทางขับที่ปลอดภัย ร้อยละ 86 และคำแนะนำเฉพาะสำหรับแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ร้อยละ 86 โดยข้อมูลที่คนไทยยอมรับได้ในการให้รถแลกเปลี่ยนกับการเชื่อมต่อ ได้แก่ ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ และ เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ของตัวรถ หากต้องมีการจ่ายค่าบริการเสริมอื่น ๆ เพื่อการเชื่อมต่อ คนไทยและภูมิภาคเลือกที่จะจ่ายตามจริงถึงร้อยละ 49 และ ร้อยละ 44 ตามลำดับ การเลือกจ่ายครั้งเดียวรวมกับราคารถ หรือ จ่ายรายเดือนเป็นตัวเลือกในลำดับถัดมา