บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รายงานความสำเร็จในการดำเนิน ธุรกิจประจำปี 2563 (เดือนมกราคม-เดือนธันวาคม) เติบโต 7% โดยมียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 25,528 คัน เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ตอกย้ำถึงความสำเร็จที่มาจากความมุ่งมั่นในการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า
นายมิโนรุ อามาโนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในทุกด้าน ทั้งยังรวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นปีที่หลายฝ่ายต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ แม้ซูซูกิจะได้รับผลกระทบอยู่บ้างแต่ก็ยังสามารถสร้างยอดจำหน่ายรวมไปได้ถึง 25,528 คัน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 7% และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 3.22% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์มีตัวเลขยอดจำหน่ายอยู่ที่ 793,021 คัน ลดลง 21.29% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์ซูซูกิประจำปี 2563 แบ่งตามรุ่นดังนี้
- SUZUKI SWIFT สอร์ตอีโคคาร์ยอดนิยม มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 10,320 คัน ลดลงจากปีก่อน 12.74%
- SUZUKI CELERIO รถยนต์นั่งขนาดคอมแพ็คคุณภาพเกินตัว มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 4,351 คัน คิดเป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 195.18%
- SUZUKI CIAZ พรีเมียมอีโคคาร์ซีดาน มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 3,047 คัน ลดลงจากปีก่อน 35.29%
- SUZUKI ERTIGA รถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 2,766 คัน ลดลงจากปีก่อน 23.15%
- SUZUKI XL7 ใหม่ รถยนต์ครอสโอเวอร์ขนาด 7 ที่นั่ง มียอดจำหน่ายนับตั้งแต่การเปิดตัว อยู่ที่ 2,560 คัน
- SUZUKI CARRY รถกระบะบรรทุกอเนกประสงค์เปิดกระบะท้ายได้ 3 ด้าน มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 2,433 คัน คิดเป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8%
- SUZUKI JIMNY รถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็กมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 51 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11%