นับตั้งแต่การเปิดตัวยนตรกรรมโรลส์-รอยซ์ กู๊ดวูดรุ่นแรก บริษัทมีความพิถีพิถันในการสร้างจักรวาลแห่งสุนทรียภาพที่โดดเด่นให้กับยนตรกรรมแต่ละคัน แต่ละจักรวาลที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นตามค่านิยมการออกแบบที่ลูกค้าโรลส์-รอยซ์แต่ละกลุ่มชื่นชอบ ซึ่ง ‘นิว โกสต์’ ก็สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้ถึงความหรูหราที่เปลี่ยนไป โดยหัวใจอยู่ที่ความเรียบง่ายและบริสุทธิ์ แต่มีรากฐานมาจากคุณค่าภายในที่ยิ่งใหญ่ แนวคิดดังกล่าวชื่อว่า “โพสต์ ออปพิวเลนซ์” ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนการร่างแผนการออกแบบ ‘นิว โกสต์’ เสียด้วยซ้ำ นิยามของแนวคิดด้านการออกแบบนี้คือการเน้นสาระสำคัญที่เป็นแก่นแท้ของวัสดุมากกว่าจะเป็นการแสดงออกที่อวดโอ้เกินจริงที่ฝังรากอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรม แฟชั่น เครื่องประดับ กระทั่งการออกแบบเรือ
หน้ารถของ ‘นิว โกสต์’ แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลในการลดทอนสิ่งไม่จำเป็นของทีมออกแบบ ตัวถังอลูมิเนียมที่เชื่อมด้วยมือทำให้โครงสร้างหลักของรถดูราวกับว่าเป็นผืนผ้าใบที่ลื่นไหลเต็มผืนโดยไม่สะดุดด้วยช่องว่างระหว่างชิ้นส่วน ทำให้นึกถึงรถโค้ชบิลต์เช่น ‘ซิลเวอร์ ดอว์น’ และ ‘ซิลเวอร์ คลาวด์’ และนี่เป็นครั้งแรกที่สปิริต ออฟ เอ็กสตาซี ไม่ได้ถูกล้อมรอบด้วยเส้นขอบฐาน ทำให้รูปปั้นปรากฏกายอย่างโดดเด่นบนฝากระโปรง ดุจยืนอยู่กลาง “ทะเลสาบ”
เมื่อมองจากด้านข้างของตัวรถ จะเห็นลายเส้นเดี่ยวหนึ่งเส้นที่ลากยาวไปตามตัวรถเพื่อเน้นให้เห็นความยาว เส้นโค้ง “waft line” ด้านล่างถูกหยิบยืมมาจากการออกแบบเรือ และใช้การสะท้อนแสงเพื่อทำให้พื้นผิวดูสว่างขึ้น สร้างความรู้สึกที่บริสุทธิ์และง่ายดายของการเคลื่อนไหว
สำหรับการออกแบบกลาสเฮาส์ (glasshouse) ซึ่งหมายรวมถึงกระจกหน้า กระจกหลัง หน้าต่างรถ เสา และหลังคานั้น เจตนาให้มีความสมดุล ประตูทั้งส่วนของคนขับและผู้โดยสารด้านหลังจะได้รับสัดส่วนของหน้าต่างที่เท่ากัน แสดงให้เห็นว่า ‘นิว โกสต์’ นั้นต้องการให้เกิดความสมดุลทั้งในฐานะยนตรกรรมสำหรับให้พนักงานขับและยนตรกรรมที่เจ้าของขับเอง แนวหลังคาโค้งอย่างประณีตบ่งบอกถึงเจตจำนงอันทรงพลัง ส่วนท้ายรถสานต่อความรู้สึกของการเคลื่อนไหวนี้ และจบด้วยแนวเส้นที่ลาดลงในที่สุด
รูปทรงของไฟท้ายที่แทบจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้กลายเป็นหลักของการออกแบบร่วมสมัยของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งรูปทรงนี้ยังคงอยู่ แต่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยการเอียงมาข้างหน้าเล็กน้อย และเนื่องจากรอยต่อรอบไฟได้หายไป จึงทำให้ไฟท้ายดูเหมือนเป็นเกาะที่ได้รับการแต่งแต้มสี ลอยเด่นอยู่บนผิวรถ
ชุดไม้สำหรับ ‘นิว โกสต์’ เป็นแบบเปิดผิวไม้ที่เผยให้เห็นวัสดุอันเปลือยเปล่าอย่างไม่เหนียมอาย แท้จริงแล้วมีการพัฒนาสีเคลือบ 2 สีใหม่โดยเฉพาะ สีแรกชื่อว่า Obsidian Ayous ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากความหลากหลายของสีที่พบในหินลาวา สีที่สองชื่อ Dark Amber ซึ่งมอบเสน่ห์เย้ายวนให้กับชุดห้องโดยสาร ด้วยการผสานแนวเส้นของอนุภาคอลูมิเนียมละเอียดเข้ากับไม้สีเข้ม การเคลือบหนังก็เช่นเดียวกัน ผิววัสดุจะถูกเผยให้เห็นได้ชัดเจน แผ่นหนังจะเป็นแผ่นยาวแผ่นเดียว และจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้วยช่องระบายอากาศที่ทำจากโลหะแท้เพียงเท่านั้น และช่องระบายเหล่านี้เอง เป็นจุดที่อากาศจากระบบฟอกอากาศ MEPS จะผ่านเข้ามา
ทีมออกแบบ Bespoke Collective ที่ประกอบด้วยนักออกแบบ วิศวกร และช่างศิลป์ได้สร้างแผงหน้าปัดเรืองแสง ‘Illuminated Fascia’ สำหรับ ‘นิว โกสต์’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของโลกที่สอดคล้องไปกับเพดานห้องโดยสาร ‘สตาร์ไลท์ เฮดไลเนอร์’ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์เฉพาะตัวของโรลส์-รอยซ์ เช่นเดียวกับสัญลักษณ์สปิริต ออฟ เอ็กสตาซี แผงกระจังหน้าทรงแพนธีออน และโมโนแกรมตัว “R” คู่ หลังจากใช้เวลาพัฒนากว่า 10,000 ชั่วโมง ตลอด 2 ปี แผงหน้าปัด ‘Illuminated Fascia’ ที่มาพร้อมชื่อยนตรกรรมโกสต์แบบเรืองแสง รายล้อมด้วยดาวมากกว่า 850 ดวง ก็ถูกนำมาประดับไว้ภายในห้องโดยสารของ ‘นิว โกสต์’ กลุ่มดาวและข้อความบริเวณแผงหน้าปัดจะถูกซ่อนจนแทบมองไม่เห็นเมื่อเครื่องยนต์ดับอยู่
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการออกแบบ ‘โพสต์ ออฟพิวเลนซ์’ ของ ‘นิว โกสต์’ ทีมออกแบบ Bespoke Collective เลือกที่จะไม่ใช้หน้าจอแบบปกติเพื่อสร้างเอฟเฟกต์ที่น่าหลงใหลนี้ ในทางกลับกันพวกเขาสร้างนวัตกรรมขึ้นใหม่อันเป็นแก่นแท้ของความหรูหราและซับซ้อนอย่างแท้จริง การเรืองแสงเป็นผลมาจากการติดไฟ LED 152 ดวงไว้ทั้งด้านบนและด้านล่างของแผงหน้าปัด สีที่นำมาใช้ได้รับการเลือกอย่างพิถีพิถันให้เข้ากับนาฬิกาของห้องโดยสารและไฟที่หน้าปัดบอกข้อมูลการขับขี่ และเพื่อให้แน่ใจว่าข้อความ ’Ghost’ จะสว่างสม่ำเสมอเท่ากันหมด มีการสลักจุดกว่า 90,000 จุดลงบนพื้นผิวของเส้นนำแสงความหนา 2 มิลลิเมตร เพื่อช่วยให้แสงกระจายตัวได้ทั่วถึงกัน พร้อมกับสร้างเอฟเฟกต์ที่ระยิบระยับเมื่อทอดสายตาผ่านแผงหน้าปัด เข้ากับประกายที่นุ่มนวลของเพดานสตาร์ไลท์ เฮดไลเนอร์
งานวิศวกรรมขนานใหญ่ถูกนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าแผงหน้าปัด ‘Illuminated Fascia’ จะไม่มีทางมองเห็นได้เลยในขณะที่ยังไม่ได้เดินเครื่องยนต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ทีมวิศวกรได้ใช้วัสดุคอมโพสิต 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นพื้นผิวสีดำ Piano Black ซึ่งฉลุด้วยเลเซอร์เพื่อลบสีดำออกบางส่วนและปล่อยให้แสงส่องผ่านคำว่า ‘Ghost’ และกลุ่มดาว พื้นผิวนี้ถูกทับด้วยชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นแลคเกอร์สีเข้ม เข้ามาช่วยซ่อนตัวอักษรเอาไว้เมื่อยังไม่ติดเครื่องยนต์ ชั้นสุดท้ายถูกทาทับด้วยแลคเกอร์ในเฉดสีที่กลมกลืน และขัดด้วยมือเพื่อให้ได้ผิวเคลือบหนา 0.5 มิลลิเมตรที่มีความมันเงาเสมอกัน และสอดคล้องกับการตกแต่งในส่วนอื่นของตัวรถที่เน้นบางจุดให้เด่นขึ้นด้วยเทคนิคไฮกลอส
จากการศึกษาความต้องการของลูกค้า พบว่า ลูกค้าต้องการแรงบิดที่ตอบสนองได้แทบจะในทันทีและการวิ่งที่เงียบสนิท ทำให้แบรนด์พัฒนาเครื่องยนต์เบนซิน V12 ทวินเทอร์โบ สูบ 6.75 ลิตร โครงสร้างเครื่องยนต์แบบบีสโป๊กของโกสต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้รองรับประสิทธิภาพอันล้นเหลือสำหรับยนตรกรรมที่ทรงพลังนี้ ซึ่งให้แรงบิด 563bhp/420kW และ 850Nm/627lb ft ส่งตรงไปยังระบบขับเคลื่อนทุกล้อและระบบบังคับเลี้ยวทุกล้อ สอดคล้องกับความคาดหวังของลูกค้า แรงบิดสูงสุดมีให้ตั้งแต่ 1600 รอบ/นาที จนถึงเพียง 600 รอบ/นาทีเหนือจำนวนรอบต่ำสุด และเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติด้านเสียงที่โดดเด่นให้ดียิ่งขึ้น ได้มีการการปรับแต่งระบบท่อนำอากาศเพื่อลดเสียงเครื่องยนต์ภายในตัวรถ
ระบบช่วงล่างอาศัยการพัฒนาทางวิศวกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีการสแกนและซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อน โดยรวมเอาตัวซับแรงกระแทกปีกนกชิ้นบน (Upper Wishbone Damper) ตัวแรกของโลกไว้เหนือระบบกันสะเทือนล้อหน้า ทำให้การขับขี่มีความมั่นคงและง่ายดายยิ่งขึ้น ระบบนี้ทำงานร่วมกับระบบกล้องสเตอริโอ Flagbearer ที่คอยอ่านสภาพเส้นทางข้างหน้าและเตรียมระบบช่วงล่างให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวถนน และระบบสัญญาณดาวเทียมของแบรนด์ (Satellite Aided Transmission) เทคโนโลยีเหล่านี้ประสานงานเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านระบบซอฟต์แวร์ Planar ที่ออกแบบมาเฉพาะ ซึ่งทำให้ ‘นิว โกสต์’ สามารถคาดการณ์และตอบสนองได้ดี แม้จะเผชิญกับพื้นผิวถนนที่โหดร้ายมากที่สุดก็ตาม
ระบบเพลาหลังแบบไฟว์ลิงค์และพวงมาลัยล้อหลังยังได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีช่วงล่างถุงลมตัวนี้ด้วย เพลาทั้งสองได้รับการจัดการผ่านซอฟต์แวร์ Planar ของแบรนด์ ซึ่งยังควบคุมเทคโนโลยีแชสซีอื่นๆ ของโกสต์เช่นกัน เช่น ระบบขับเคลื่อนทุกล้อ ระบบบังคับเลี้ยวทุกล้อ ระบบควบคุมการทรงตัว และระบบเบรคแบบ self-drying เพื่อให้แน่ใจว่าทุกส่วนของยนตรกรรมจะสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวและระดับการยึดเกาะอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขณะที่ยังรักษาบุคลิกที่มีชีวิตชีวาและทรงพลังของรถไว้ได้