หยุดยาวแบบนี้ รถยนต์ของหลายคนคงผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก ยิ่งต้องเดินทางระยะไกล เผชิญเส้นทางที่เป็นถนนขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ มีแอ่งน้ำ การตรวจเช็คสภาพยางหลังการเดินทางจึงถือเป็นเรื่องจำเป็น ยางเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน ส่งผลต่อความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่และผู้ร่วมเดินทาง ซึ่งหลายครั้งการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจากยางรถยนต์ไม่ว่าจะเป็น ยางเหินน้ำ ยางแตก ยางรั่ว ที่เกิดจากสภาพยางที่ไม่พร้อมสำหรับการใช้งาน ดังนั้นยางรถยนต์จึงควรอยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ วันนี้ ออโต้วัน มี 4 เรื่อง พื้นฐานในการตรวจเช็กยางก่อนกลับมาทำงาน หลังหยุดยาวอย่างถูกวิธี ต้องเช็กอะไรบ้าง
เปิด 4 สัญญาณความผิดปกติที่ควรสังเกตุ
- ดอกยางสึกหรอ การเช็กความหนาของดอกยาง โดยความลึกของตัวดอกยาง โดยมาตรฐานควรลึกอยู่ที่ 1.6 – 2 มม. หากดอกยางต่ำกว่า 2 มม. จะทำให้คุณสมบัติการยึดเกาะถนนไม่ดี และรีดน้ำจะค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการขับขี่
- ยางแตกหรือแยกส่วน หน้ายางต้องไม่เสียหาย ไม่แตกหรือร้าว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า ถ้าพบปัญหาเห็นความเสียหาย ต้องรีบเปลี่ยนยางโดยด่วน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุได้เมื่อขับรถด้วยความเร็ว
- รูปแบบยางผิดปกติ มีรอยบวม นูน ออกมาบนหน้าแก้มยาง มักเกิดจากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้ยางบริเวณนั้นเกิดหายเสียหายอย่างหนัก ซึ่งหากยังใช้งานต่อไปอาจจะเสี่ยงต่อยางระเบิดได้
- การสั่นสะเทือนที่เกิดจากยาง หากสังเกตว่าการสั่นสะเทือนผ่านล้อมีความปกติ อาจจะเกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์ล้อที่ไม่ได้มาตรฐาน ตัวยางเสื่อมภาพทำให้บิดเบี้ยวไม่สมดุล เมื่อเกิดการสั่นที่ผิดสังเกตุควรรีบตรวจสอบและแก้ไข
อายุการใช้งานของยางรถยนต์นั้นมีขีดจำกัด โดยให้นับจากวันที่ผลิต เป็นเวลา 2 – 5 ปี หรือประมาณ 50,000 กม. ในกรณีที่ใช้งานเป็นปกติ แต่ถ้าหากมีการใช้งานที่หนักเกินไป เช่น ขนของที่มีน้ำหนักมาก หรือเดินทางระยะทางไกลเป็นประจำ ควรตรวจสอบสภาพยางอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในการใช้งาน ถึงแม้ว่ายางรถยนต์ไม่มีสิ่งผิดปกติก็ควรจะตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และเปลี่ยนเมื่อถึงเวลาที่กำหนด
เมื่อเปลี่ยนยางใหม่ทุกครั้งควรตรวจเช็คขนาดของยางที่มีความเหมาะสม ซึ่งรถยนต์แต่ละคันมีขนาดที่แตกต่างกันตามการใช้งาน โดยสามารถดูขนาดของยางได้จากคู่มือที่มีมากับรถ หรือสติ๊กเกอร์ข้างประตูก็ได้เช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนขนาดของยางให้มีหน้ากว้างขึ้นจะช่วยเพิ่มสมรรถนะที่ดีในการเกาะถนนและระยะการเบรกที่สั้นลง แต่แรงเสียดทานที่เกิดจากหน้ายางที่กว้างกว่าขนาดมาตรฐาน ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้รถใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนมาก ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่เปลี่ยนยางใหม่ควรเลือกใช้ยางขนาดมาตรฐานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
การเช็คค่าต่างๆ ให้เหมาะกับรถยนต์และการใช้งาน นอกจากคู่มือที่มากับรถแล้ว ยังสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับยางได้จากตัวหนังสือและตัวเลขที่แก้มยางทุกเส้นไม่ว่าจะเป็นขนาดของยาง ความสามารถในการรับน้ำหนัก ความเร็วสูงสุดที่สามารถวิ่งได้ สัปดาห์และปีที่ผลิต ยกตัวอย่างการอ่านค่าง่ายๆ เช่น
- ตัว P หมายถึงยางที่ถูกออกแบบสำหรับรถยนต์นั่ง
- ตัวเลข 195 คือความกว้างของหน้ายางมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
- ตัวเลข 55 คือความสูงของแก้มยาง โดยวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของหน้ายาง จากตัวอย่าง 195/55 หมายถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของ 195 มม.
- ตัวอักษร R หมายถึงยางเรเดียล เสริมใยเหล็ก ซึ่งยางสมัยใหม่จะเป็นยางชนิดนี้กันเป็นส่วนมาก
- ตัวเลข 15 คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อมีหน่วยเป็นนิ้ว
- วันผลิตยางจะดูได้จากตัวเลข 4 ตัวที่ขอบแก้มยางใกล้ๆ กับล้อ โดยเลข 2 ตัวแรกหมายสัปดาห์ที่ผลิต ส่วนเลข 2 ตัวหลังเป็นการบอกถึงปีที่ผลิต เช่น 3822 หมายถึงยางเส้นนั้นถูกผลิตสัปดาห์ที่ 38 ของปี 2022 นั้นเอง ทั้งนี้ ยางรถยนต์เป็นสิ่งที่ควรหมั่นตรวจเช็คอยู่สม่ำเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงทางรถยนต์